Advertisement
มะเขือพวง : มะเขือโบราณที่มีทวิลักษณ์
เดชา ศิริภัทร
"จ้ำจี้มะเขือพวง เมียน้อยเมียหลวงมาสอยดอกแค.."
ข้อความที่ยกมาข้างบนนี้ เป็นตอนต้นของเพลงร้องประกอบการเล่น ของเด็กไทยภาคกลางในอดีตเรียกว่าเล่น "จ้ำจี้" ซึ่งมีเพลงประกอบหลายเพลง แต่ที่นิยมร้องมากก็คือ จ้ำจี้มะเขือพวง และจ้ำจี้มะเขือเปราะ เป็นต้น
น่าสังเกตว่า เนื้อหาของเพลงที่เด็กนำมาขับร้องนั้น มักมาจากสิ่งที่พบเห็นและคุ้นเคยในสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม การทำมาหากิน ธรรมชาติ และชีวิตประจำวันในสมัยที่เกิดเพลงนั้นขึ้น เช่น เพลงจ้ำจี้มะเขือพวง กล่าวถึงเมียน้อยและเมียหลวง ซึ่งคงเป็นเรื่องปกติธรรมดาในยุคนั้นที่ผู้ชายที่มีฐานะดีมักจะมีเมียหลายคน และคงอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน จึงไปสอยดอกแคด้วยกันได้ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงผักพื้นบ้านที่นิยมกันในสมัยนั้นอีกสองชนิด คือ ดอกแคและมะเขือพวงนั่นเอง แสดงว่าทั้งดอกแคและมะเขือพวง พบอยู่ทั่วไปจนนำมาสื่อให้เข้าใจได้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
มะเขือพวง : มะเขือแห่งทวิลักษณ์ |
มะเขือพวงมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Solanum Torvum Sw. อยู่ในวงศ์ Solanaceae ของพืชพวกพริกและมะเขือต่างๆ นั่นเอง มะเขือพวงมีลักษณะพิเศษบางประการต่างจากมะเขือชนิดอื่นๆ คือเป็นไม้พุ่มยื่นต้นข้ามปี ไม่ใช่พืชล้มลุกเหมือนมะเขือชนิดอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีขนาดใหญ่โตกว่ามะเขือชนิดอื่นๆ ด้วย เพราะมีทรงพุ่มสูงถึงกว่า 1 เมตร ขึ้นไปถึง 2 เมตร ทีเดียว
ตรงขามกับขนาดใหญ่โตของลำต้น มะเขือพวงกลับมีผลขนาดเล็กที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับมะเขือชนิดอื่นๆ และมีผลออกรวมกันเป็นกลุ่มหลายๆ ผล อยู่บนช่อเดียวกัน จึงได้ชื่อว่า มะเขือพวง เพราะมีผลรวมอยู่เป็นพวงนั่นเอง
มะเขือพวงมีดอกขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาวหรือม่วง เกสรสีเหลือง ผลกลมขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ก้านผลยาว อยู่รวมกันเป็นช่อกลม ผลอ่อนมีเปลือกสีเขียวหนาเหนียว ผลแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อสุกเป็นสีแสดแดง ภายในผลมีเมล็ดมากมายแทบจะไม่มีเนื้อในผลเลย
มะเขือพวงนับเป็นมะเขือโบราณที่ยังมีลักษณะเป็นพืชป่าอยู่มาก เพราะไม่มีการปรับปรุงพันธุ์ดังเช่นมะเขือชนิดอื่น ดังเช่นผลขนาดเล็ก เปลือกที่หนาเหนียว เมล็ดมีมากมาย และหนามตามลำต้นและกิ่งก้าน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความทนทานแข็งแรงต่อดินฟ้าอากาศและโรคแมลงต่างๆ เหนือมะเขืออื่นๆ โดยเฉพาะลักษณะยืนต้นข้ามหลายๆ ปี และลำต้นทรงพุ่มใหญ่โตเป็นพิเศษ ซึ่งไม่พบในมะเขือชนิดที่ปรับปรุงพันธุ์แล้ว
จึงอาจกล่าวได้ว่ามะเขือพวงเป็นมะเขือโบราณที่มีทวิลักษณะ คือ ลักษณะที่ขัดแย้งกัน 2 อย่าง คือ ความใหญ่โตของทรงพุ่ม ซึ่งใหญ่ที่สุดในบรรดามะเขือด้วยกัน และขนาดของผลเล็ก ซึ่งเล็กที่สุดในบรรดามะเขือนั่นเอง
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของมะเขือพวง คือในเขตร้อน (tropical) แต่ไม่สามารถเจาะจงได้ว่าอยู่ที่ใดโดยเฉพาะ พบขึ้นอยู่ทั่วไปในเขตร้อน ทั้งขึ้นเองตามธรรมชาติ และถูกนำมาเพาะปลูกในพื้นที่เกษตร
มะเขือพวงมีชื่อเรียกต่างๆ กัน ไปตามท้องถิ่น เช่น มะเขือพวง (กลาง) มะแคว้งกุลา (เหนือ) หมากแข้ง (อีสาน) มะเขือละคร (โคราช) เขือน้อย เขือพวง ลูกแว้ง เขือเทศ (ใต้) และมะแว้งช้าง (สงขลา) เป็นต้น
มะเขือพวงในฐานะผัก
ส่วนใหญ่มะเขือพวงที่นำมาใช้เป็นผักก็คือผลอ่อนที่มีสีเขียว หากใช้เป็นผักจิ้มนิยมทำให้สุกโดยการ เผา ปิ้ง หรือย่าง พอให้ผิวกรอบหรือไหม้บางส่วน จะทำให้รสชาติดีขึ้น และผลนิ่มกว่าเมื่อยังดิบ นอกจากนี้ยังอาจนำไปต้มหรือลวกให้สุกก็ได้ แต่ไม่ค่อยนิยมกัน
ผลอ่อนดิบ นำไปปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงป่าต่างๆ (ไก่ เนื้อ นก ปลา) แกงคั่ว (ไก่ ปลาไหล) แกงเขียวหวาน (ไก่ ลูกชิ้นปลา) แกงอ่อม (ปลาดุก) ซุปอีสาน และเครื่องจิ้มต่างๆ เช่น น้ำพริกมะเขือพวง น้ำพริกแมงดา น้ำพริกกะปิ น้ำพริกขี้กา น้ำพริกกุ้งสด น้ำพริกหอยแมลงภู่ น้ำพริกไข่เค็ม และปลาร้าทรงเครื่อง เป็นต้น มะเขือพวงทำให้กลิ่นรส ของเครื่องจิ้มต่างๆ มีความพิเศษออกไปจากปกติ นับเป็นความริเริ่ม ที่ชาญฉลาดของแม่ครัวไทยในอดีต ที่ยังคงสืบทอดมาจนทุกวันนี้ ทำให้เครื่องจิ้มของไทยมีความหลากหลาย สามารถตอบสนอง รสนิยมของผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง อันเป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทย ที่ทำให้ได้รับความนิยมไปทั่วโลกนั่นเอง
ประโยชน์ด้านอื่นของมะเขือพวง
ผลดิบของมะเขือพวงใช้เป็นยาแก้ไอ ขับปัสสาวะและช่วยย่อยอาหาร การกินผลมะเขือพวงดิบเป็นอาหาร (เช่นในเครื่องจิ้มชนิดต่างๆ ) ก็คงมีสรรพคุณทางยาด้วยเช่นกัน ส่วนรากของมะเขือพวง ใช้รักษาโรคฝ่าเท้าแตก หรือโรคตาปลา
ในด้านเกษตร มะเขือพวงนับเป็นมะเขือที่เหมาะกับการเกษตร แบบยั่งยืนที่ไม่ใช้สารเคมี (ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาปราบวัชพืช ฯลฯ) เพราะเป็นมะเขือที่ทนทาน แข็งแรง ต้นสูงใหญ่ และอายุยืนหลายปี ไม่ต้องปลูกและดูแลรักษามากเหมือนมะเขือชนิดอื่น การเก็บผลมะเขือพวง ใช้แรงมาก เพราะผลเล็กอยู่บนต้อนขนาดใหญ่ จึงเหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อย ที่ใช้แรงงานเป็นทุนหลัก ดังจะเห็นว่าในหมู่ชนพื้นเมืองดั้งเดิม เช่น ชาวไทยภูเขาต่างๆ นิยมปลูกมะเขือพวงไว้ในระบบเกษตรพื้นบ้าน เช่น วนเกษตร หรือไร่หมุนเวียนในเขตป่าภาคเหนือและภาคตะวันตก
สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกผักสวนครัวเอาไว้บริโภคเองในครอบครัว ก็อาจปลูกมะเขือพวงเอาไว้สักต้นก็จะเก็บผลไปประกอบอาหารได้นานหลายปี โดยไม่ต้องปลูกใหม่หรือเอาใจใส่มากเท่าพืชหรือมะเขือชนิดอื่น
นอกจากประโยชน์สำหรับมนุษย์แล้ว มะเขือพวงยังเป็นอาหารที่ดี สำหรับนกหลายชนิดด้วย ผลมะเขือพวงสุกมีสีแสดแดงสะดุดตาดึงดูดนกมากิน และนำเมล็ดไปถ่ายไว้ในที่ต่าง ๆ เป็นการขยายพันธุ์มะเขือพวงตามธรรมชาติ เมื่อมะเขือพวงมีขนาดทรงพุ่มสูงใหญ่พอสมควรก็จะมีนกมาทำรังออกลูก เพาะพันธุ์กันบนต้นมะเขือพวงได้อีกด้วย ซึ่งผู้ปลูกจะได้รับความเพลิดเพลิน จากการสังเกตศึกษาชีวิตนก พร้อมกับได้บุญกุศลไปด้วยสมคำพังเพยที่ว่า "เสียกระสุนนัดเดียว แต่ได้นกหลายตัว" นั่นเอง ผิดกับพังเพยนิดเดียวตรงที่ นกหลายตัวจาการปลูกมะเขือพวงนั้นเป็นนกที่มีชีวิตและมีความสุข มิใช่นกที่ถูกยิงตายจากกระสุนนัดเดียวดังเช่นคำพังเพย |
เดชา ศิริภัทร
ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม
ขอบคุณนิตยสารหมอชาวบ้าน ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่
วันที่ 7 พ.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,161 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,275 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,151 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,172 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,262 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,146 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,158 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 20,443 ครั้ง |
เปิดอ่าน 36,725 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,459 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,220 ครั้ง |
เปิดอ่าน 23,628 ครั้ง |
|
|