ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 3/2568 วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2568 โดยมี พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ตามที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดมาตรฐานตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.4/ว 19 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2567 โดยกำหนดให้ผู้ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ต้องผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด ดังนั้น เพื่อให้การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นไปตามมาตรฐานตำแหน่งฯ สามารถคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม มีประสบการณ์และศักยภาพในการบริหารและการจัดการศึกษาตามมาตรฐานตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. กำหนด และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ จึงเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ โดยสาระสำคัญของการปรับปรุงหลักเกณฑ์ ประกอบด้วย 2 ประเด็นหลัก คือ
1) การบรรจุและแต่งตั้ง ให้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สั่งบรรจุและแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานตำแหน่ง หลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ประกาศรับสมัคร และต้องผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด รวมทั้งไม่ติดเงื่อนไขอื่นใดที่ ก.ค.ศ. กำหนด
2) การประเมินสัมฤทธิผล เพิ่มข้อกำหนดใหม่ โดยระบุให้ผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ต้องได้รับการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อพัฒนาการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง
ทั้งนี้ ในระหว่างที่ ก.ค.ศ. ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาก่อนการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตาม ว 2/2562 มาใช้บังคับไปพลางก่อน ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการพัฒนาได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ
2. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สืบเนื่องจาก ก.ค.ศ. ได้กำหนดมาตรฐานตำแหน่งฯ ใหม่ ตาม ว 19/2567 โดยกำหนดให้ผู้ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้องผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. ประกอบกับกระทรวงศึกษาธิการได้มีบันทึกข้อตกลงแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยและการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ ระหว่าง 4 กระทรวง และ 1 องค์กรมหาชน โดยมุ่งเน้นการสร้างทรัพยากรของชาติ ให้เป็นคนที่มีจิตสำนึกรักชาติภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และยึดมั่นสถาบันของชาติ
สำนักงาน ก.ค.ศ. จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ เพื่อให้เป็นไปตามบริบทของกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อให้สามารถคัดเลือกบุคคลฯ ที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์มาดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่อไป โดยการพัฒนาก่อนแต่งตั้งฯ ให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาฯ ว 2/2562 ในการพัฒนาก่อนการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไปพลางก่อน จนกว่า ก.ค.ศ. จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาฯ ใหม่
3. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
ด้วย ก.ค.ศ. ได้กำหนดมาตรฐานตำแหน่งใหม่ ตาม ว 19/2567 ประกอบกับมาตรา 9 แห่ง พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/60 กำหนดให้อำนาจการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาแทน กศจ. และมาตรา 27 แห่ง พรบ. ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ให้เปลี่ยน สำนักงาน กศน. เป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ทำให้ส่วนราชการและผู้ดำเนินการคัดเลือกฯ ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา ตาม ว 8/2562 และ ว 16/2565 ที่กำหนดไว้เดิมไม่เป็นไปตามบริบทฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา ทุกส่วนราชการ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสอดรับกับบริบทของกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ดังกล่าว โดยให้บังคับใช้กับทุกส่วนราชการ ส่วนการบรรจุและแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาหรือผู้อำนวยการสถานศึกษาแล้วแต่กรณี ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง สั่งบรรจุและแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานตำแหน่ง หลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ประกาศรับสมัคร และต้องผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด รวมทั้งไม่ติดเงื่อนไขอื่นใดที่ ก.ค.ศ. กำหนด... ทั้งนี้ ผู้ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง จะต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเดียวกันกับตำแหน่งที่จะสั่งบรรจุและแต่งตั้ง
โดยในระหว่างที่ ก.ค.ศ. ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาก่อนการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ตาม ว 8/2563 มาใช้บังคับไปพลางก่อน ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการพัฒนาได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ
4. เห็นชอบ การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ
เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดใหม่ ตาม ว 19/2567 ซึ่งกำหนดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา แตกต่างจากเดิม และกำหนดให้ผู้ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้ ต้องผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด ทั้งนี้ เพื่อให้การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ เป็นไปตามมาตรฐานตำแหน่งฯ และมีผู้บริหารสถานศึกษาปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ในอันที่จะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่พิเศษ โดยให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาฯ ตาม ว 8/2563 ในการพัฒนาก่อนการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา ไปพลางก่อน จนกว่า ก.ค.ศ. จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาฯ ใหม่
5. เห็นชอบ รายละเอียดตัวชี้วัด และคะแนนการประเมิน ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)
ตามที่ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ขอให้ ก.ค.ศ. พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดตัวชี้วัดและคะแนนการประเมิน ภาค ค ความเหมาะสม กับตำแหน่งและวิชาชีพ ในการคัดเลือกฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สกร. ปี พ.ศ. 2568 ตามแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการสรรหาฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ว 2/2567) ข้อ 1.2 วรรคสอง ที่กำหนดให้ส่วนราชการนำเสนอ ก.ค.ศ. พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดตัวชี้วัด และคะแนนการประเมิน ภาค ค ก่อนแจ้ง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง แล้วแต่กรณี เพื่อดำเนินการต่อไป นั้น
ที่ประชุม ก.ค.ศ. พิจารณาและเห็นชอบรายละเอียดตัวชี้วัด และคะแนนการประเมิน ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุ และแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 16/2557 และ ว 19/2557 ตามที่กรมส่งเสริมการเรียนรู้เสนอ โดยปรับเพิ่มรายละเอียดตัวชี้วัดเพื่อให้มีความชัดเจน สามารถวัดได้ และลดการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการคัดเลือกเป็นมาตรฐานเดียวกันและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคัดเลือกครูที่เป็นคนเก่ง คนดี มีความรู้ ความสามารถ มีศักยภาพและประสบการณ์ในการสอนตรงตามความต้องการจำเป็นของสถานศึกษา และเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาเอกที่ ก.ค.ศ. กำหนด
6. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ตำแหน่งประเภททั่วไป เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ
โดยได้ปรับปรุงฯ หลักเกณฑ์ฯ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบด้วย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ได้กำหนดให้อำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาในส่วนของการบริหารงานบุคคลเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ที่ยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 ส่งผลให้สำนักงาน กศน.จังหวัดและกรุงเทพมหานครถูกยกเลิกไปด้วย ซึ่งการปรับปรุงหลักเกณฑ์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสรรหาบุคลากรโดยให้ส่วนราชการเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณในการดำเนินการ ลดความซับซ้อนและเร่งกระบวนการสรรหาให้รวดเร็วขึ้น สร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียม โดยปรับเกณฑ์เงินเดือนผู้สมัครจากเดิมที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท เป็นการเทียบตามอัตราเงินเดือนสำหรับผู้ที่มีคุณวุฒิปริญญาตรีที่ ก.พ. รับรอง ซึ่งสะท้อนความเหมาะสมกับคุณสมบัติของผู้สมัครมากขึ้น เปิดโอกาสให้ส่วนราชการกำหนดสัดส่วนการคัดเลือกหรือสอบแข่งขันตามความเหมาะสมของตำแหน่งว่าง และการสร้างมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยการกำหนดให้ส่วนราชการเป็นผู้บริหารจัดการการคัดเลือกทั้งหมดจะช่วยให้ระบบมีเอกภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ทั้งนี้ ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ตำแหน่งประเภททั่วไป เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ ตาม ว 1/2564 และการใดที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ดังกล่าว ให้ดำเนินการต่อไปจนแล้วเสร็จ
7. อนุมัติ บรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 1 ราย
8. เห็นชอบรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกและผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการ และอนุกรรมการ ใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 183 เขต และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษา จำนวน 62 เขต รวมทั้งสิ้น 245 เขต
พร้อมกับมีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาฯ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 เป็นต้นไป และมีเงื่อนไขว่า หากตรวจสอบภายหลังพบว่า ประธานอนุกรรมการ หรืออนุกรรมการรายใด มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม หรือมีกรณีใดกรณีหนึ่ง ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด จะถูกเพิกถอนการดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการหรืออนุกรรมการ ใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษานั้น ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ตรวจสอบความถูกต้องก่อนแจ้งให้ส่วนราชการและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป
ขอบคุณที่มาจาก สำนักงาน ก.ค.ศ.