ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 2/2568 วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 โดยมีพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติ ดังนี้
สืบเนื่องจากที่ ก.ค.ศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่มอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ศึกษาสภาพอัตรากำลังและความก้าวหน้าทางวิชาชีพของศึกษานิเทศก์ เนื่องจากพบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในตำแหน่งนี้จำนวนมาก ส่งผลให้ขาดบุคลากรที่จะทำหน้าที่นิเทศ ให้คำปรึกษา แนะนำ ชี้แนะ เป็นพี่เลี้ยง ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนางานวิชาการให้กับครูและผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน
ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้ศึกษานิเทศก์มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ ก.ค.ศ. จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การปฏิรูปวิชาชีพศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการปฏิรูปวิชาชีพศึกษานิเทศก์ทั้งระบบ ทั้งการปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง การกำหนดช่องทางเพิ่มเติมในการเข้าสู่ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ เปิดโอกาสให้สามารถคัดเลือกบุคคลที่มิใช่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมีวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ (ยกเว้นสาขาทางด้านการบริหารการศึกษา) และมีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญระดับสูง ให้สามารถเข้าสู่ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ได้ รวมถึงการปรับโครงสร้างและอัตรากำลังตำแหน่งศึกษานิเทศก์ให้มีความชัดเจนและเหมาะสมกับภารกิจ และได้มอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. นำไปพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน และได้จัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการฯที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุมในครั้งนี้ที่ประชุม ก.ค.ศ. ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์สำคัญที่จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการปฏิรูปวิชาชีพศึกษานิเทศก์ ประกอบด้วย
1) การกำหนดประสบการณ์ และความรู้ ความสามารถ ความชำนาญหรือเชี่ยวชาญระดับสูงตามมาตรฐาน ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ (กรณีเป็นผู้ที่มิใช่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา) กำหนดประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ความชำนาญหรือเชี่ยวชาญระดับสูงสำหรับผู้ที่มิใช่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เปิดโอกาสให้ผู้มีวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้เข้าสู่ตำแหน่งได้
2) (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ กรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์แก่ราชการ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้กระบวนการวัดความรู้ ความสามารถที่ครอบคลุมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในเรื่องเกี่ยวกับวิธีวิทยาการวิจัยทางการศึกษาขั้นสูง ภาวะผู้นำทางวิชาการ ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะภาษาอังกฤษ สมรรถนะในการปฏิบัติงานของตำแหน่งศึกษานิเทศก์ และประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง โดยคัดเลือกจากกลุ่มผู้ที่มิใช่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานตำแหน่ง
หลักเกณฑ์และวิธีการนี้ให้ใช้ในกรณีที่ดำเนินการคัดเลือกข้าราชการครูฯ เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด แล้วได้จำนวนผู้ได้รับการคัดเลือกไม่เพียงพอกับ จำนวนตำแหน่งว่าง และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง เห็นว่า เป็นกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์แก่ราชการ
3) (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ปรับปรุงวิธีการคัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสม ตรงตามมาตรฐานตำแหน่งศึกษานิเทศก์ที่กำหนดใหม่
4) การกำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรองเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ กรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อประโยชน์แก่ราชการ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
5) (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ระบบการพัฒนาศึกษานิเทศก์ ก่อนการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและกลไกการประเมินสมรรถนะและความพร้อมในการปฏิบัติงาน โดยให้ยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ (ว 6/2551)
การอนุมัติหลักเกณฑ์ดังกล่าวในวันนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปวิชาชีพศึกษานิเทศก์ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการมีศึกษานิเทศก์ที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบการศึกษา มีความเป็นผู้นำทางวิชาการมีประสบการณ์และสมรรถนะในการนิเทศการศึกษา จะนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนทั่วประเทศต่อไป
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ.