เมื่อก่อนนี้ใครจะกินจะใช้น้ำก็ไปตักเอาที่บ่อ น้ำบ่อสะอาดสะอ้าน ตักเท่าไรก็ได้ไม่ต้องจ่ายเงิน ภาพนี้เหมือนจะเพิ่งผ่านไปไม่นานนะคะ แต่มาวันนี้ น้ำกลายเป็นสินค้าไปแล้ว และเป็นสินค้าที่ใช้ทรัพยากรในการผลิตอย่างไม่สมเหตุสมผลเสียด้วย
จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือในธรรมชาติ น้ำถูกนำมาผ่านกระบวนการต่าง ๆ จากนั้นก็บรรจุขวด ติดฉลาก ติดยี่ห้อ ตั้งราคา น้ำไม่ใช่ของฟรีอีกต่อไปเพราะน้ำดื่มกลายเป็นทรัพยากรที่หายากไปแล้ว
ผู้บริโภคทั่วโลกจ่ายเงินเป็นค่าน้ำดื่มปีละราว 35 ล้านดอลล่าร์ หรือ 1,400 ล้านบาท ทั้งน้ำแร่ และน้ำธรรมดาบรรจุขวด เมื่อดื่มน้ำขวดกันมากขนาดนี้แล้วผลที่ตามมาคืออะไร
สถาบันสิ่งแวดล้อมโลกที่ชื่อ World Watch Institute ในกรุงวอชิงตันระบุว่า ในการผลิต พลาสติคชนิด PET (polyethylene terephthalate) 1 กิโลกรัม (เป็นพลาสติกชนิดหนึ่งซึ่งใช้ผลิตขวดน้ำดื่มทั่วไป) ต้องใช้น้ำ 17.5 กิโลกรัม แถมได้ของเสียออกมาเพียบ คือไฮโดรคาร์บอน 40 กรัม ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 25 กรัม คาร์บอนมอนอกไซด์ 18 กรัม ไนโตรเจนออกไซด์ 20 กรัม คาร์บอนไดออกไซด์ 2.3 กิโลกรัม
พอล แมคแรนเดิล ผู้เขียน "The Green Guide" สรุปว่า "เอาแค่เรื่องการใช้น้ำอย่างเดียว น้ำที่ใช้ทำขวดก็มากกว่าที่ใช้ดื่มอีก"
ไม่ใช่แค่นั้น หลังจากดื่มน้ำแล้วขวดพลาสติกยังกลายเป็นขยะอีกแม้ว่าพลาสติคชนิด PET จะสามารถนำมารีไซเคิลได้ แต่ไม่ใช่ที่อเมริกา เพราะสถาบันการนำภาชนะกลับมารีไซเคิลใหม่ หรือ The Container Recycling Institute ในอเมริการายงานว่า ในปี 2002 มีการจำหน่ายน้ำบรรจุขวดพลาสติกไป 14,000 ล้านขวด ในจำนวนนี้ถูกทิ้งขยะไป 90 %
อย่างนี้ต้องขอบคุณคนเก็บขยะบ้านเรา ที่เป็นกลไกสำคัญในการนำขยะขวดน้ำพันธุ์ไทยกลับมาผลิตใช้ได้ใหม่อีก
|