เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2568 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการที่มีข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ขอชี้แจงว่าระเบียบดังกล่าวได้ถูกยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษารวมถึงออกเป็นหนังสือสั่งการแจ้งเวียน ซึ่งได้ระบุให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งครู นักเรียนและผู้ปกครอง และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนก่อนการประกาศใช้เพื่อความชัดเจนในการกำหนดแนวปฏิบัติ ซึ่งสถานศึกษาอาจกำหนดลักษณะทรงผมได้ตามความเหมาะสม กระทรวงศึกษาธิการ ขอย้ำชัดว่ามีหนังสือยกเลิกระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2566 ฉะนั้น “ทรงติ่งหู” หรือ “ทรงขาว 3 ด้าน” จะไม่ถูกเรียกว่า “ทรงผมนักเรียน” อีกต่อไป เพราะไม่มีการระบุความสั้น/ยาวของทรงผมนักเรียนชายและนักเรียนหญิงแล้ว ส่วนการจะกำหนดให้ผู้เรียนไว้ทรงผมรวมถึงแต่งกายแบบไหนให้เป็นไปตามวิจารณญาณของสถานศึกษา โดยให้โรงเรียนเปิดช่องทางให้โอกาสผู้เรียนพูดคุยเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกันอย่างสร้างสรรค์
โฆษก ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบัน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญในเรื่องของสิทธิผู้เรียนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการดูแลช่วยเหลือและให้คำปรึกษาให้กับผู้เรียนทุกด้าน ซึ่งมีศูนย์เสมาพิทักษ์ที่ขับเคลื่อนกลไกผ่านพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) ในทุกพื้นที่ ถึงแม้จะมีมาตรการที่ดูแลผู้เรียนให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม แต่ก็ไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพ ทุกอย่างเป็นไปเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนแสดงออกเชิงพฤติกรรมอย่างเหมาะสม มีอิสระภายใต้กรอบระเบียบที่ป้องกันไม่ให้นำไปสู่ความเสียหายทั้งต่อตัวเด็กเองและเกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมในวงกว้าง เชื่อว่าทุกโรงเรียนมีระเบียบที่สร้างขึ้นมาเพื่ออยู่ร่วมกันในสถานศึกษาอย่างมีความสุขทุกฝ่าย ความเห็นต่างอาจหลากหลาย หลักการคิดอาจไม่ตรงกัน แต่สิ่งที่วางแนวทางไว้ต้องพัฒนาได้โดยไม่ปิดกั้นโอกาสของเด็ก อยากให้เคารพซึ่งกันและกัน ลดการใช้ความรุนแรงทางคำพูดหรือการบุลลี่กระทบกระเทือนจิตใจ จนผู้เรียนรู้สึกว่าถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ การมีระเบียบวินัยเป็นสิ่งดีแต่ต้องควบคู่กับสิทธิมนุษยชนของผู้เรียนด้วย ฝากเป็นกำลังใจให้คุณครูปฏิบัติหน้าที่อยู่บนพื้นฐานของระเบียบวินัยอย่างมีคุณธรรม เพราะครูเป็นแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาความคิดของผู้เรียน หากหาทางออกร่วมกันจะมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
“ณ วันนี้ การยกเลิกระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นการตีกรอบขีดจำกัดด้านการศึกษา นับเป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับความหลากหลาย ขอยืนยันว่าเราจะร่วมกับทุกภาคส่วนเดินหน้า “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” สร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ มุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และเติบโตสู่ก้าวที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต “ โฆษก ศธ. กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 3 มกราคม 2568