ผมได้อ่านข้อเสนอแนะของนักวิชาการที่เสนอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา อยู่ใต้บังคับบัญชาของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด แล้วเห็นว่า…..
“คันที่ก้น แต่ไปเกาที่คอ แล้วจะหายคันเหรอครับ”
ปัญหาการศึกษาไทย ….แก้ไขง่าย ใช้ทุนน้อยมาก(ถ้าจริงใจ)
โดย รัชชัยย์ ศรสุวรรณ
นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา
……………………………………………………………………………………………………………….
“ในอดีต เมื่อครั้งผมเป็นนักเรียน”
“ระดับโรงเรียน” เมื่อครั้งที่คนรุ่นผมเป็นนักเรียน สิ่งที่พวกผมกลัวมากที่สุดคือ “การสอบตก” เพราะการสอบตกย่อมหมายถึงต้องเรียนซ้ำชั้น ไม่มีโอกาสที่จะสอบแก้ตัวหรือสอบซ่อมรายวิชาใดมีนักเรียนสอบตกมาก คุณครูก็จะถูกผู้อำนวยการหรืออาจารย์ใหญ่ เพ่งเล็ง และซักถาม คุณครูก็จะนิ่งไม่ได้ จะทุ่มเทจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ พ่อแม่ ผู้ปกครองก็จะใส่ใจลูกๆมาก เพราะการสอบตก เรียนซ้ำชั้น ส่งผล กระทบต่อเศรษฐกิจในครอบครัว และหน้าตาทางสังคม
“ระดับจังหวัด” นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 และ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะถูกประเมินโดยการใช้ข้อสอบกลาง และ ข้อสอบถูกตรวจโดยส่วนกลาง หากพบว่านักเรียนสอบตก หรือไม่ผ่านในรายวิชาสามัญ เป็นจำนวนมาก ย่อมถูกผู้มีอำนาจประเมินคุณภาพผู้บริหารว่า ไร้คุณภาพ การแต่งตั้งโยกย้ายไปอยู่โรงเรียนที่มีปริมาณนักเรียนสูงขึ้น ก็จะถูกเพ่งเล็งว่าสมควรหรือไม่ การพิจารณาความดีความชอบก็จะมีความสัมพันธ์กับคุณภาพการจัดการศึกษา ผู้มีอำนาจในยุคนั้นถ้าเป็นระดับประถมศึกษา ก็เป็น สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัด ถ้าเป็นระดับมัธยมก็เป็นสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด
“ระดับประเทศ” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (ม.6) ในยุคปัจจุบัน จะต้องสอบโดยใช้ข้อสอบของประเทศเท่านั้น ไม่มีคะแนนเก็บ ได้เป็นได้ ตกเป็นตก ต้องเรียนซ้ำชั้นสถานเดียว นักเรียนในยุคนั้นมีคุณภาพมาก เพราะต้องใส่ใจ ใครมีทักษะทางอาชีพก็จะไปเรียนสายอาชีพตั้งแต่จบชั้น ม.ศ.3
คุณภาพการศึกษายุคนั้นเทียบชั้นระดับโลกได้ การสอบเเข่งขันวิชาคณิตศาตร์ นักเรียนไทย ชนะนักเรียนของอเมริกา ประเทศเกาหลีเคยมาดูงานทั้งด้านการศึกษาไทย การเศรษฐกิจ และด้านการอาชีพ (โครงการ สะมะเอิน จูดอง….ถ้าจำไม่ผิด)
“ในอดีต เมื่อครั้งผมเป็นครูและเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน”
การจัดการศึกษาเริ่มเปลี่ยนแปลงไป มีการจัดการศึกษาภายใต้การบริหารจัดการโดยเขตพื้นที่การศึกษา มีการยกเลิกข้อสอบกลาง ทั้งระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 คุณภาพการศึกษาขึ้นอยู่กับความใส่ใจของครูและผู้อำนวยการโรงเรียน แต่การศึกษาก็ยังพอไปได้ นักเรียนยังคงมีระเบียบวินัยเข้มข้น เมื่อหนีเรียนก็ไม่มีสิทธิสอบ ต้องเรียนซ้ำช่วงปิดเทอม ครูก็หน่ายที่จะสอนตอนปิดเทอมเพราะไม่ได้พักไม่ได้ค่าตอบแทน ก็เขี่ยๆให้ผ่าน คุณภาพก็ด้อยลงบ้าง การเลื่อนระดับจากอาจารย์ 1 ซี 3 (ครูบรรจุใหม่ จบปริญญาตรี) เป็นอาจารย์ 2 ซี 7-8 ไม่ยุ่งยากมากนัก เขียนผลงานไม่มากนัก ก็ได้เป็น
“ปัจจุบันหลังผมเกษียณอายุราชการ”
เป็นยุคล้มเหลวและสิ้นหวังของการศึกษาไทย เพราะกระทรวงศึกษาธิการเอาผลการเรียนของนักเรียนไปผูกติดกับการเลื่อนระดับของครูและผู้อำนวยการโรงเรียน (ซึ่งดูเหมือนดีและเหมาะสม) ปัญหาคือ ถ้านักเรียนสอบไม่ผ่านเป็นจำนวนมาก ผลงานของครูหรือผู้อำนวยการ ผลงานของ ผอ เขตฯ ก็จะไม่ผ่าน ดังนั้นระดับโรงเรียน วิธีการง่ายที่สุดคือ ผอ โรงเรียน จะสั่งการให้เขี่ยให้นักเรียนสอบผ่านทุกคน ไม่มีตก อ้างปรัชญาโน่นนี่ ครูก็พอใจ ไม่ต้องมาสอนซ่อมตอนปิดภาคเรียน ท่าน เขตฯ ก็พอใจที่รายงานจำนวนนักเรียนในความรับผิดชอบว่าไม่มีใครไม่ผ่าน สอดคล้องกับ ผลการสอบ NT ที่มีข้อมูลว่าสอบผ่านเป็นจำนวนมาก (ข้อเท็จจริงที่รู้มาคือ บางเขตฯ เอาข้อสอบ NT ให้โรงเรียนไปฝึกให้นักเรียนทำล่วงหน้า) การเสนอผลงานโดยวิธีการถ่ายคลิปวีดีโอการสอน นั้น มีใครที่ถ่ายทำครั้งเดียวผ่าน แสงมากไป เเสงน้อยไป เสียงเบาไป ดังไป ก็ต้องทำใหม่จนนักเรียน สะอิดสะเอียน เพราะต้องเรียนซ้ำๆหลายชั่วโมงเนื้อหาเดียวกัน เนื้อหาวิชาอื่นๆก็ต้องทิ้งไปเพราะเรียนไม่ทัน
แนวคิดในเรื่องการจัดการศึกษายุคปัจจุบัน เป็นที่ถูกใจนักเรียนมาก เพราะเด็กๆ รู้อยู่แล้วว่า “เรียนหรือไม่เรียนก็ถูกเขี่ยให้ผ่าน แน่นอน ” อย่างนี้จะเรียนทำไม หนีเที่ยวสิครับ
ที่น่าแปลก และน่าโมโห คือ “เรื่องที่รู้ทั้งรู้ เห็นเด่นชัดว่าทำร้ายการจัดการศึกษา” คือการยัดเยียดโครงการต่างๆ ให้โรงเรียนทำ และติดตามขอทราบรายงานและเอกสารหลักฐานร่องรอย ไม่ว่าจะโรงเรียนสีต่างๆ โรงเรียนในฝัน โรงเรียนดีใกล้บ้านโรงเรียนสุจริต (แต่ทุจริตเชิงนโยบายเพราะเบียดเบียนเวลานักเรียน) ฯลฯ โครงการที่ทำให้ครูต้องทิ้งเด็ก ทิ้งห้องมาทำรายงาน
เห็นต้นเหตุของความล้มเหลวทางการศึกษาไทยหรือยังครับ
“การเปลี่ยนให้ศึกษาธิการจังหวัดมาบริหารจัดการศึกษา แทนเขตพื้นที่ การศึกษาจะดีขึ้นจริงหรือครับ”
“คันที่ก้น แต่ไปเกาที่คอ” แล้วจะหายคันหรือครับ
รัชชัยย์ ศรสุวรรณ
นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา
1 ธันวาคม 2567
………………………………………………………………………
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เขตพท.การศึกษา vs ศึกษาธิการจังหวัด…จะไปทางไหน
https://www.matichon.co.th/columnists/news_4921366