ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 12/2567 วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดยมี พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
ก.ค.ศ. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการและการเลื่อนเงินเดือนสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในตำแหน่งวิชาการของสถาบันการอาชีวศึกษา ซึ่งประกอบด้วย (1) (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการ (2) (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการเลื่อนเงินเดือน และ (3) (ร่าง) ขั้นตอนและวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการและการเลื่อนเงินเดือน สำหรับตำแหน่งอาจารย์ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ตามมาตรา 38 ก. (3) (4) (5) (6) ซึ่งจะส่งผลให้การบริหารงานบุคคลในสถาบันการอาชีวศึกษามีความเป็นมาตรฐานเทียบเคียงกับสถาบันอุดมศึกษา
โดยสาระสำคัญของ (ร่าง) หลักเกณฑ์ใหม่นี้กำหนดให้มีการประเมิน 2 รอบต่อปี โดยรอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึง 31 มีนาคม ของปีถัดไป และรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 30 กันยายน ของปีเดียวกัน องค์ประกอบการประเมินแบ่งเป็นผลสัมฤทธิ์ของงานร้อยละ 70 และพฤติกรรมการปฏิบัติราชการ (สมรรถนะ) ร้อยละ 30 ในด้านการเลื่อนเงินเดือน ได้กำหนดกรอบวงเงินร้อยละ 3 แยกตามกลุ่มประเภทตำแหน่ง ภายใต้การกลั่นกรองของคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้ง พร้อมทั้งกำหนดให้มีการประกาศอัตราร้อยละของฐานการคำนวณอย่างโปร่งใส
การจัดทำหลักเกณฑ์ฯ นี้เป็นผลสืบเนื่องจากการตัดโอนตำแหน่งครูจำนวน 106 อัตราไปเป็นตำแหน่งอาจารย์ในสถาบันการอาชีวศึกษา และการนำบัญชีเงินเดือนตามกฎ ก.พ.อ. มาปรับใช้โดยอนุโลม และเพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาสามารถดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติราชการและเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 38 ก. (3) (4) (5) (6) ได้อย่างเหมาะสม ก.ค.ศ. จึงได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว และการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ฯ นี้จะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างขวัญกำลังใจและความก้าวหน้าในวิชาชีพของบุคลากรทางการศึกษา อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษาของประเทศ โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลิตกำลังคนที่มีทักษะสูงตามความต้องการของตลาดแรงงาน
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการมีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง หากมีการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา จะมีการนำเสนอต่อ อ.ก.ค.ศ. เพื่อพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้มีความเหมาะสมต่อไป
ตามที่ ก.ค.ศ. ได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตาม ว 6/2567 โดยกำหนดให้สำนักงาน ก.ค.ศ. จัดทำระบบการย้ายข้าราชการครู (Teacher Rotation System : TRS) เรียกโดยย่อว่า “ระบบ TRS” นั้น
เพื่อให้ข้าราชการครูผู้ประสงค์ขอย้ายและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจ สามารถนําไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน และเป็นมาตรฐานเดียวกัน ก.ค.ศ. จึงได้เห็นชอบ (ร่าง) แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการย้าย การประมวลผล และการพิจารณาย้ายข้าราชการครู ผ่านระบบ TRS (Teacher Rotation System) โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ตัวชี้วัด คะแนน และเงื่อนไข ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด รวมทั้งความสอดคล้อง เชื่อมโยงกับขั้นตอนการดำเนินการในระบบ TRS ซึ่งการดำเนินการย้ายในปี 2568 กำหนดไว้ 2 รอบ
ครอบคลุมทุกขั้นตอนตั้งแต่การยื่นคำร้อง การตรวจสอบคุณสมบัติ การพิจารณาของสถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนถึงการออกคำสั่งย้ายและรายงานตัว
สำหรับคุณครูที่จะดำเนินการย้ายผ่านระบบ TRS ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและเงื่อนไขครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 6/2567 และไม่ติดเงื่อนไขการบรรจุและแต่งตั้งอื่นใดตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ที่ ก.ค.ศ. หรือหน่วยงานอื่นกำหนด โดยสำนักงาน ก.ค.ศ. เตรียมเปิดระบบให้ข้าราชการครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าใช้งานระบบและยื่นคำขอในเดือนมกราคม 2568 นี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่และของขวัญวันครูจากกระทรวงศึกษาธิการ
นวัตกรรมการบริหารงานบุคคลครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยระบบดิจิทัล การสร้างมาตรฐานและความโปร่งใสในกระบวนการย้าย การลดขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้ข้าราชการครูสามารถติดตามสถานะการย้ายได้ตลอดเวลา และผู้บริหารสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนความมุ่งมั่นของกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาระบบราชการให้ทันสมัย โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาระบบราชการยุคดิจิทัล โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบการศึกษาไทยและข้าราชการครูทั่วประเทศ ระบบ TRS จึงไม่เพียงเป็นเครื่องมือในการบริหารงานบุคคล แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานการทำงานของภาครัฐให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล
สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 และกำหนดให้สำนักงาน กศน. สังกัดสำนักงานปลัด กระทรวงศึกษาธิการ เดิม เป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ส่งผลให้คำนิยามของส่วนราชการและ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 8/2562 ไม่สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ก.ค.ศ. จึงมีมติเห็นชอบให้เพิ่มเติมการนิยามตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ดังกล่าว โดยส่วนราชการให้หมายรวมถึง กรมส่งเสริมการเรียนรู้ และอ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง ให้รวมถึง อ.ก.ค.ศ. กรมส่งเสริมการเรียนรู้ และเห็นชอบรายละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ตามที่กรมส่งเสริมการเรียนรู้เสนอ โดยเพิ่มเติมกรอบการพิจารณาในการประเมิน ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง 2) การสัมภาษณ์ คือ เจตคติและอุดมการณ์ของความเป็นผู้บริหารสถานศึกษาและความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ชาติไทย รวมถึงจิตสำนึกเรื่องการรักชาติ รักประเทศ จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และหลักคิดที่ถูกต้องต่อชาติบ้านเมืองและสถาบันสำคัญของชาติเป็นพลเมืองที่ดี ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกตำแหน่งอื่น รวมทั้งปรับองค์ประกอบการประเมินให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดอื่น
ทั้งนี้ เพื่อให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้สามารถนำหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว ไปใช้ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ.