เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2567 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวการตรวจพบสารตกค้าง “องุ่นไชน์มัสแคท” ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ส่งผลให้ประชาชนมีความกังวล และกระทบต่อพ่อค้า แม่ค้า ที่จำหน่ายองุ่นไชน์มัสแคท ที่ผ่านมา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้ประชาชนบริโภคผักและผลไม้เป็นประจำ แต่อย่าลืมล้างผักผลไม้ให้สะอาดทุกครั้ง เพราะนอกจากจะช่วยลดสารเคมี หรือการตกค้างของยาฆ่าแมลง ยังช่วยทำความสะอาดลดการปนเปื้อนคราบดิน โคลนได้ด้วย การล้างผัก ผลไม้ 3 วิธี ดังนี้ 1) ล้างด้วยน้ำไหล โดยแช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที (เหมาะสำหรับการล้างผักจำนวนน้อย) 2) แช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 15 นาที จากนั้น ล้างด้วยน้ำสะอาด 3) แช่ในโซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ในอัตราส่วนครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้น ล้างด้วยน้ำสะอาด (เหมาะสำหรับการล้างผักจำนวนมาก) ซึ่งทั้ง 3 วิธีนี้ จะช่วยลดสารพิษตกค้างจากยาฆ่าแมลง และเชื้อโรคในผัก ผลไม้ได้
ทั้งนี้ กรมอนามัยแนะนำให้ประชาชนบริโภคผลไม้อย่างหลากหลายและเลือกผลไม้ตามฤดูกาล สำหรับองุ่นนั้นมีหลายชนิดและหลายสี แต่ละชนิดมีคุณประโยชน์ที่แตกต่างกัน เช่น องุ่นเขียว มีสารพฤกษเคมีที่เป็นแอนติออกซิแดนท์ อาทิ คาเทชิน (Catechin) และ เทอโรสติลบีน (Pterostilbene) ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ กระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก และโรคหัวใจ องุ่นแดง มีสารเรสเวอราทรอล (Resveratrol) ที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจและมะเร็ง อีกทั้ง ยังมีสารซาโปนิน (Saponin) ที่ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ป้องกันเนื้องอก และลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอล ส่วนองุ่นดำ ช่วยเสริมการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด มีการศึกษาพบว่าน้ำองุ่นดำช่วยเพิ่มระดับสารแอนติออกซิแดนท์ในเลือดและลดอนุมูลอิสระ
นอกจากนี้ กรมอนามัยยังแนะนำให้เลือกผลไม้ตามฤดูกาลอื่นๆ เช่น ฝรั่ง ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะละกอ และกล้วยน้ำว้า เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน และควรเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสุขาภิบาลอาหารตามวิถีชีวิตปกติใหม่ (SAN & SAN Plus) เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา กรมอนามัย 26 ตุลาคม 2567