เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ของโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นที่น่ายินดี ว่า ถึงแม้งบประมาณจะออกมาล่าช้าแต่ก็สามารถเบิกจ่ายได้ถึงร้อยละ 96 จากงบประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างเร่งรัดติดตามเป็นรายเขตพื้นที่ฯ และรายโรงเรียน คิดว่าน่าจะเบิกจ่ายก่อหนี้ผูกพันได้ทันวันที่ 30 กันยายนนี้แน่นอน
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้รายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัย ว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 ไม่ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา จึงไม่สามารถบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย ดังนั้น ที่ประชุมจึงมอบให้ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาประสานกับทางอัยการ เพื่อหาวิธีการหักเงินเดือนที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ที่สำคัญต้องไม่กระทบกับครูและเขตพื้นที่ฯ นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องการประเมินตามโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า นักเรียนของ สพฐ. สามารถเข้าถึงชุดพัฒนาความฉลาดรู้ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ได้มากถึง 4.6 แสนคนแล้ว ซึ่งเป้าหมาย คือ จะต้องยกระดับการสอบ PISA ปี 2025 ให้สูงขึ้น
“ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำเรื่องการจัดประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา วันที่ 14-15 กันยายน ที่สวนนงนุช พัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งจะเป็นการประชุมผอ.เขตพื้นที่ฯรูปแบบใหม่ โดยจะเปิดโอกาสให้ผอ.เขตพื้นที่ฯ ทุกคนนำเสนอผลปฏิบัติงานของตัวเองในรอบปีที่ผ่านมา ว่าทำอะไรสำเร็จ และภาคภูมิใจ การตอบสนองต่อนโยบายเป็นอย่างไร โดยจะแบ่งการนำเสนอเป็นภาค จากนั้นจะคัดเลือกตัวแทนที่นำเสนอยอดเยี่ยมภาคละ 3 คน ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีจำนวนเขตพื้นที่ฯมากให้มีตัวแทน 5 คน เพื่อให้ตัวแทนแต่ละภาคนำเสนอที่ประชุมใหญ่ ว่า แต่ละเขตพื้นที่ฯ ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลกระทรวง และ สพฐ.ได้สำเร็จมากน้อยแค่ไหน” ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การนำเสนอผลงานครั้งนี้จะมีผลต่อการโยกย้ายหรือไม่ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ก็อาจนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณา แต่จะดูเรื่องความต้องการการย้ายคืนถิ่นเป็นหลัก เพราะขณะนี้มี ผอ.เขตพื้นที่ฯ หลายคนที่ไปอยู่ต่างภาค ต่างถิ่นหากปฏิบัติหน้าที่นานแล้ว และมีความจำเป็นเดือดร้อนก็จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นลำดับแรก ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรมว.ศึกษาธิการ ส่วนเรื่องประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการทำงานก็จะเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งในการพิจารณาเช่นกัน โดยปีนี้จะมีผอ.เขตพื้นที่ฯเกษียณอายุราชการประมาณ 40 คน ซึ่ง สพฐ.จะดำเนินการย้าย ผอ.เขตพื้นที่ฯ ภายในเดือนกันยายนนี้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 3 กันยายน 2567