เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2567 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)ได้การสำรวจเด็กตกหล่นตามมาตรการ Thailand Zero Dropout เด็กและเยาวชนทุกคนไม่หลุดจากระบบการศึกษาของรัฐบาล หรือ แก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ ซึ่งสกร.ได้ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลเด็กอายุ 6-15 ปี ที่หลุดจากระบบการศึกษา พบว่ามีประมาณ 2 หมื่นกว่าคน นั้น ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้ให้สำนักนโยบายและแผน สพฐ.ไปสำรวจ ณ.วันที่ 10 มิ.ย.2567 พบว่า มีเด็กในสังกัด สพฐ.จำนวน 1,600 กว่าคนที่หลุดจากระบบการศึกษา แต่ทั้งนี้สพฐ.มีนโยบายเยี่ยมบ้านนักเรียนก็จะไปดูอีกครั้งว่าเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาเพราะเหตุใด และการที่เราจะซ้อนเด็กมาได้ทั้งหมดหรือไม่หมดก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น เรื่องอายุ และความพร้อมของนักเรียนด้วยว่าจะเรียนกับสพฐ.หรือจะไปเรียนที่สกร.หรือจะไปเรียนสังกัดอื่น
เลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ สพฐ.มีแนวคิดปรับปรุงทบทวนหลักสูตรให้มีความทันสมัยตอบโจทย์การจัดการศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาสพฐ. มีการทบทวนเนื้อหาการเรียนการสอน ในแต่ละรายวิชาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่แล้ว ซึ่งการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ครั้งนี้จะมีการเพิ่มเติมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศหรือเอไอ เข้าไปเพิ่มเติม เพียงแต่ครั้งนี้ จะเป็นการทบทวนให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องนำเรื่องนี้เสนอให้พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณาลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการทบทวนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อปรับปรุงหลักสูตรเดิม ซึ่งใช้มานานตั้งแต่ปี 2551
“เมื่อรมว.ศึกษาธิการ ลงนามแต่งตั้ง คณะกรรมการทบทวนหลักสูตรอย่างเป็นทางการแล้ว คณะกรรมการฯจะต้องลงไปดูรายละเอียด เนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชาให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ลดตัวชี้วัดที่ปัจจุบันมีอยู่จำนวนมากให้น้อยลง โดยเฉพาะชั่วโมงเรียนของเด็ก ซึ่งจากงานวิจัยระบุชัดเจนว่า เด็กไทยมีชั่วโมงเรียนมากที่สุดในโลก โดยปัจจุบัน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่1-6 รวมวิชาพื้นฐาน วิชาเพิ่มเติม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในปีการศึกษาหนึ่งรวมกันทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมง ขณะที่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเรียนไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมง และนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายชั้น ม.4-6 เรียนรวมกัน 3 ปีไม่น้อยกว่า 3,600 ชั่วโมง ดังนั้นต่อไปอาจจะลดชั่วโมงเรียนให้น้อยลง”เลขาธิการกพฐ. กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม การลดเวลาเรียนเหลือเท่าไรนั้น และยังคงมี 8 กลุ่มสาระตามเดิมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการททวนหลักสูตรฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิฯผู้เชี่ยวชาญเรื่องหลักสูตรจากหลายภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องชั่วโมงเรียนเท่านั้น แต่จะต้องไปดูว่า ควรจะต้องปรับ หรือเปลี่ยนอะไรให้มีความทันสมัย โดยจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งศึกษานิเทศก์ ครูผู้สอน ผู้ปกครอง นักเรียน นักวิชาการ สำนักพิมพ์ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย เรียนดี มีความสุข ของพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ โดยทุกอย่างจะต้องไม่เป็นภาระกับนักเรียน และผู้ปกครอง”ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 25 มิถุนายน 2567