เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 เวลา 10.00 น. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญ คือ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการ และลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างระเบียบ
กค. เสนอว่า
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (28 พฤศจิกายน 2566) เห็นชอบกับรายงานผลการศึกษาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เรื่อง การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอและให้สำนักงาน ก.พ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยรายงานผลการศึกษาดังกล่าวมีข้อเสนอ สรุปได้ ดังนี้
1.1. การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุทุกคุณวุฒิให้แตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิการศึกษา ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท และผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายใน 2 ปี และปรับอัตราเงินเดือนของคุณวุฒิอื่น ๆ ให้สอดคล้องกัน รวมทั้งปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุดังกล่าวภายในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ จะทยอยปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิ และปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 2 ครั้ง
1.2 การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ กค. โดยกรมบัญชีกลางเห็นควรพิจารณาปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูง ที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิม เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 13,285 บาท เป็น เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 14,600 บาท และปรับเพดานขั้นต่ำของเงินเดือนรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิม เดือนละ 10,000 บาท เป็น เดือนละ 11,000 บาท
2. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และทหารกองประจำการ สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน และสอดคล้องกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชย ผู้ได้รับผลกระทบซึ่งเป็นไปตามกับมติคณะรัฐมนตรีตามข้อ 1 กค. โดยกรมบัญชีกลางจึงได้ดำเนินการยกร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. .... โดยยกเลิกระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวม 6 ฉบับ และปรับปรุงบทอาศัยอำนาจโดยอาศัยอำนาจออกตามความในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เนื่องจากพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ถูกยกเลิกโดยผลของมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยยังคงหลักการเดิม และปรับอัตราเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว โดยการปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูงที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว สำหรับข้าราชการและลูกจ้างประจำ ซึ่งมีเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่ถึง 14,600 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเดือนละ 2,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเงินเดือนหรือค่าจ้างแล้วต้องไม่เกิน เดือนละ 14,600 บาท และการปรับเพดานขั้นต่ำของเงินเดือนรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว สำหรับข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และทหารกองประจำการ ซึ่งมีเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่ถึงเดือนละ 11,000 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นจากเงินเดือนหรือค่าจ้างอีกจนถึงเดือนละ 11,000 บาท สำหรับการปรับอัตราเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว สรุปได้ ดังนี้
รวมทั้งได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินค่าครองชีพชั่วคราว โดยกำหนดให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน หรือระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่ กค. กำหนด แล้วแต่กรณีโดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้เก็บหลักฐานการจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวไว้ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินเดือนข้าราชการ หรือค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการที่ กค. กำหนดในปัจจุบัน
3. ทั้งนี้ กค. ได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐฯ แล้ว คาดว่าในการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และทหารกองประจำการ จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 200 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 2,400 ล้านบาทต่อปี โดยเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่าย (งบบุคลากร) ซึ่งจะช่วยให้บุคคลดังกล่าวสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน และเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ
จึงได้เสนอร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการ และลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
ที่มา สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 18 มิถุนายน 2567 เว็บไซต์รัฐบาลไทย