เลขาธิการ กพฐ. แจงข้อสอบครูผู้ช่วยต้องการคัดครูเก่ง-มีคุณภาพ มุ่งเป้าสอนเด็กคิดวิเคราะห์เป็น เผย ครู สพฐ. เป็นผู้ออกข้อสอบ ส่วน มธ. เป็นหน่วยงานกลางดูแลระบบบริหารจัดการ
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี 2567 ซึ่งเป็นการสอบข้อเขียน ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป และภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ระหว่างวันที่ 8-9 มิ.ย. ที่ผ่านมานั้น ซึ่งการจัดสอบครั้งนี้มีตำแหน่งว่าง จำนวน 4,399 อัตรา มีผู้สมัครจำนวน 154,191 คน ผู้มีสิทธิสอบจำนวน 153,568 คน และมีผู้เข้าสอบ 149,163 คน คิดเป็นร้อยละ 97 โดยการจัดสอบดังกล่าว จะประกาศรายชื่อมีสิทธิเข้ารับการประเมิน ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง วิชาชีพ และการปฏิบัติงานในสถานศึกษา ภายในที่ 14 มิ.ย. นี้ สำหรับภาพรวมการจัดสอบดังกล่าวทั่วประเทศมีความเรียบร้อย ยังไม่ได้รับรายงานปัญหาหรืออุปสรรคแต่อย่างใด โดยเฉพาะการสอบผู้ช่วยครั้งนี้ มีผู้เข้าสอบเป็นหญิงถึงกำหนดคลอดบุตร จำนวน 2 ราย ในจังหวัดอุบลราชธานี และอุทัยธานี เพื่อไม่ให้เป็นการเสียสิทธิ ได้แจ้งเขตพื้นที่ให้นำไปจัดสอบต่อที่โรงพยาบาลด้วย
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นเรื่องข้อสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ที่มีการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลายถึงข้อสอบที่มีความยากและง่ายนั้น ตนอยากชี้แจงว่าเรื่องข้อสอบเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีความยากง่ายแตกต่างกัน เพราะเราถือว่าเป็นการสอบแข่งขันที่ต้องการคัดเลือกคนที่จะเป็นครูที่มีคุณภาพ ดังนั้นข้อสอบจึงเน้นข้อสอบที่คิดวิเคราะห์มากกว่าเน้นความจำ ซึ่งผู้เข้าสอบที่ไม่คุ้นชินอาจมองว่าข้อสอบยาก แต่เป้าหมายของเรา คือ อยากได้ครูยุคใหม่ที่ต้องสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นและต้องการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ในโลกศตวรรษที่ 21 และการทดสอบต่างๆ ดังนั้นหากจะเติมทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนได้จะต้องเริ่มต้นที่ครู เพราะจากนี้ไปครูยุคใหม่จะเป็นผู้นำการปฏิรูปการศึกษาในอนาคต ทั้งนี้ ตนไม่กังวลและเชื่อมั่นว่าจะมีคนเก่งผ่านการสอบครั้งนี้ได้
“ประเด็นที่ศูนย์สอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ออกมาชี้แจงเรื่องข้อสอบที่มีความผิดพลาดนั้น หลักการการออกข้อสอบของ สพฐ. หากคำตอบข้อไหนคลุมเครือ เราจะยกประโยชน์ให้อยู่แล้ว ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่มีวิชาการศึกษาจะมาออกข้อสอบได้อย่างไรนั้น ขอชี้แจงว่าผู้ออกข้อสอบทั้งหมดเป็นครูจากสังกัด สพฐ. ที่ไปดำเนินการออกข้อสอบ ส่วน มธ. เป็นผู้บริหารจัดการระบบไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อสอบ การจัดส่ง และการตรวจข้อสอบ เนื่องจาก มธ. มีระบบบริหารจัดการที่ดีในเรื่องนี้ ซึ่งเราจะต้องหาหน่วยงานกลางมาดำเนินการ เพราะไม่เช่นนั้นจะถูกครหาว่าไม่โปร่งใสในการจัดสอบได้ อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้ย้ำเป็นนโยบายการจัดสอบทุกตำแหน่งว่าจะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส และต้องไม่มีเรื่องทุจริตเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด” ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 10 มิถุนายน 2567