เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการสัมมนาส่งเสริมความร่วมมือและสร้างความเข้าใจการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูละบุคลากรทางการศึกษา โดยมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุลรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ประธานกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีครูและบุคลากรของ สพฐ. เป็นสมาชิกทั่วประเทศ 100 แห่ง และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขต เข้าร่วม
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า นโยบายการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา มีเป้าหมายเพื่อให้ครูและบุคลากรฯ สามารถพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้เห็นผลสำเร็จได้อย่างแท้จริง ใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากร จะทำให้ครูและบุคลากรมีสภาพคล่องทางการเงิน มีขวัญ กำลังใจ และมีสมาธิจดจ่อในการแก้ปัญหาและพัฒนานักเรียน รวมทั้งสามารถวางแผนพัฒนาตนเองได้อย่างดี อีกทั้งการแก้ปัญหาหนี้สินทั้งภาคประชาชน และบุคลากรภาครัฐ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้เห็นผล โดยการแก้ปัญหาหนี้สินจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาสังคมในภาพรวมไปพร้อมกัน ซึ่งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของครูและบุคลากรฯ ทั้งข้าราชการประจำ ข้าราชการบำนาญ และลูกจ้าง กว่า 9 แสนคน รวมถึงครอบครัวของครูและบุคลากรฯ หลายล้านคน มีสหกรณ์เป็นที่พึ่งทั้งฝากออม กู้เพื่อการลงทุน ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ดูแลตนเองและครอบครัว ส่งบุตรหลานเล่าเรียน การบริหารของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวงจรชีวิตครูและบุคลากรฯ ดังนั้น การบริหารของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จึงเป็นกลไกสำคัญ ในกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของกระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า วันนี้มีการนำร่องความร่วมมือระหว่างธนาคารออมสินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดกาญจนบุรี โดยการให้ดอกเบี้ยสินเชื่อในการรวมหนี้ในอัตราร้อยละ 2.88 ต่อปี ในวงเงิน 2,000 ล้านบาท เนื่องจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนหนึ่งอาจมีหนี้หลายที่ และมีอัตราดอกเบี้ยสูง การรวมหนี้มาไว้ที่เดียวในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดี ทั้งนี้เชื่อว่าทุกสหกรณ์มีความพยายามที่จะบริหารในการลดดอกเบี้ย ซึ่งก็ต้องดูต้นทุนด้วย และจากที่ได้คุยกับนายกิตติรัตน์ก็แนะนำว่าการจะแก้ปัญหาหนี้สินครูฯได้ดีต้องหาแหล่งสินเชื่อให้สหกรณ์ ซึ่งตนและ รมช.ศึกษาธิการรวมถึงคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการก็พยายามหาแหล่งสินเชื่อเพื่อมาช่วยลดดอกเบี้ยอยู่ โดยตนได้ขอดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 2 ต่อปีเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งถ้าได้จะทำให้สหกรณ์สามารถไปบริหารจัดการลดดอกเบี้ยให้ครูฯได้อย่างเป็นรูปธรรม
“ความร่วมมือของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ที่จะเกิดขึ้นจากการสัมมนาในวันนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตของครูและบุคลากรในระยะยาว ซึ่งเป็นทั้งการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นใหม่ โดยเป้าหมายสำคัญคือ ให้ครูและบุคลากรมีเงินเดือนเหลือสุทธิมากกว่าร้อยละ 30 ซึ่งหากครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนมีจิตใจที่เข้มแข็งในการไขปัญหาหนี้สินของตนเอง เชื่อว่าจะทำให้สามารถแก้ปัญหาหนี้สินได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ด้านว่า ที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา กล่าวว่า จากนโยบายการลดภาระครูและบุคลากรฯ ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากร สพฐ. ได้นำนโยบายสู่การปฏิบัติโดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้ครูและบุคลากรทุกคนต้องมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น มีเงินเดือนเหลือสุทธิมากกว่าร้อยละ 30 พร้อมทั้งมีความรู้และทักษะด้านการเงิน เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาด้านการเงินด้วยตนเองอย่างยั่งยืน สามารถเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย มีอาชีพเสริม และดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างดีมีประสิทธิภาพสูงตามแนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” รวมถึงในส่วนของนักเรียน ทุกคนต้องมีความรู้และทักษะด้านการเงิน เพื่อให้มีสมรรถนะด้านการเงินพร้อมใช้ชีวิตในอนาคตได้เป็นอย่างดี ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว สพฐ. ได้ดำเนินการ ดังนี้ 1) จัดตั้งสถานีแก้หนี้ 245 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ 2) จัดทำระบบออนไลน์รับลงทะเบียนผู้สมัครใจแก้ไขหนี้สิน 3) ประสาน เจรจา สถาบันการเงินเพื่อลดดอกเบี้ยเงินกู้ ปรับโครงสร้างหนี้ และแสวงหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาร่วมกันกับบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลและการดำเนินงานที่ผ่านมา สพฐ. พบว่า มีครูและบุคลากรทางการศึกษากว่าร้อยละ 90 มีหนี้สินอยู่กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ถ้าได้รับความร่วมมือ และความเข้าใจในแนวทางการดำเนินงานจากรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และผู้เกี่ยวข้อง จะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ตรงจุด และประสบความสำเร็จ ทุกฝ่ายมีความสุข เศรษฐกิจก้าวหน้า และสังคมประเทศไทยโดยภาพรวมมีความสุขร่วมกัน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 31 พฤษภาคม 2567