สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกาศรายชื่อศูนย์แนะแนวประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ปีการศึกษา 2567 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการพิจารณาตรวจสอบและยืนยันรายชื่อศูนย์แนะแนวประจำจังหวัด และศูนย์แนะแนวประจำเขตพื้นที่การศึกษา และจัดทำทำเนียบศูนย์แนะแนวประจำจังหวัด และศูนย์แนะแนวประจำเขตพื้นที่การศึกษาปีการศึกษา 2567 จำนวน 261 ศูนย์ ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้มีการพิจารณาตรวจสอบและได้จัดส่งข้อมูลยืนยันรายชื่อศูนย์แนะแนวฯ ตามกำหนดเวลาเรียบร้อยแล้วนั้น
ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รวบรวมและจัดทำรายชื่อศูนย์แนะแนวประจำจังหวัด และศูนย์แนะแนวประจำเขตพื้นที่การศึกษา ปีการศึกษา 2567 เรียบร้อยแล้ว โดยในปีการศึกษา 2567 ได้กำหนดภารกิจหลักของศูนย์แนะแนวฯ ดังนี้
1. ศูนย์แนะแนวประจำจังหวัดและศูนย์แนะแนวประจำเขตพื้นที่การศึกษา มีการจัดทำแผนการดำเนินงานที่มีความเชื่อมโยงกับนโยบาย จุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนดี มีความสุข รวมทั้งมีการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรมที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาการแนะแนวระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและบริบทในพื้นที่
2. กำหนดจัดตั้งโครงสร้างและคณะทำงานของศูนย์แนะแนวประจำจังหวัด และศูนย์แนะแนวประจำเขตพื้นที่การศึกษาที่เป็นปัจจุบัน ขับเคลื่อนงานตามแผนงาน โครงการ ปฏิทินการดำเนินงาน
3. ดำเนินการและพัฒนางานแนะแนวอย่างเข้มแข็ง ครอบคลุม 3 ขอบข่ายการแนะแนวด้านการศึกษา ด้านอาชีพ และด้านส่วนตัวและสังคม การชี้แนะ Coaching และส่งเสริมให้นักเรียนได้รู้จักและค้นพบตนเอง ตัดสินใจ และวางแผนการศึกษาต่อหรือการประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสม เตรียมความพร้อมเข้าสู่โลกอาชีพ
4. เป็นต้นแบบและเป็นแกนนำการขับเคลื่อนงานแนะแนวในพื้นที่ รวมทั้งมีส่วนในการพัฒนาครูแนะแนว และครูผู้รับผิดชอบงานแนะแนวในพื้นที่ ให้สามารถจัดกิจกรรมแนะแนวและขับเคลื่อนงานแนะแนวอย่างมีประสิทธิภาพ
5. ดำเนินงานกิจกรรมและพัฒนาการดำเนินสู่การเป็นสถานศึกษาต้นแบบนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา (YC : Youth Counselor) วิถีใหม่
6. ดำเนินการสร้างเสริมความปลอดภัยในมิติส่วนตัวและสังคม และสุขภาพจิตนักเรียน ด้วยการแนะแนว
7. ร่วมเป็นคณะทำงานดำเนินการและสื่อสารสถานศึกษาในพื้นที่ ให้ขับเคลื่อนโครงการ เพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับในพื้นที่
8. จัดทำ พัฒนา เลือกใช้สื่อ เครื่องมือทางการแนะแนว เทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการแนะแนว อย่างเหมาะสม รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ แนะนำ ส่งเสริมให้ครูแนะแนวและครูผู้รับผิดชอบงานแนะแนวในพื้นที่นำไปใช้ในการจัดกิจกรรมแนะแนว ที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้รู้จักและค้นพบตนเองได้พัฒนาตามความสนใจและความถนัด
9. สร้างและประสานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับงานแนะแนวในพื้นที่ เพื่อร่วมกันสร้างความเข้มแข็ง และขับเคลื่อนงานแนะแนวเชิงรุกและทันต่อเหตุการณ์
10. ติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการดำเนินงานการสร้างความเข้มแข็งของศูนย์แนะแนวประจำจังหวัด และศูนย์แนะแนวประจำเขตพื้นที่การศึกษา มายังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ทั้งนี้ การกำหนดภารกิจหลักของศูนย์แนะแนวประจำจังหวัดและศูนย์แนะแนวประจำเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานแนะแนวที่ครอบคลุมด้านการศึกษา อาชีพ ส่วนตัวและสังคม สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศและสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการแนะแนวนักเรียนในพื้นที่อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม
ที่มา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน