เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2567 รศ.ดร.นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการ ก.ค.ศ. มีการปรับหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในหลายเรื่อง เพื่อเตรียมนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ในการบริหารงานบุคคล ทั้ง การประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่านระบบการประเมินวิทยฐานะดิจิทัล (Digital Performance Appraisal : DPA) การปรับระบบจับคู่ครูคืนถิ่น Teacher Matching System (TMS) และปีนี้ได้งบประมาณ เพื่อจัดทำระบบย้ายครูทั้งหมด หรือที่เรียกว่า ระบบTRS หรือ Teacher Rotation System และที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเร็ว ๆ คือ ระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (School Capacity System : SCS) โดยระบบนี้จะทำให้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) รู้อัตรากำลังทั้งหมดที่มี ว่าครูขาดหรือเกิน จำนวนเท่าไร และสาขาใด เพื่อเชื่อมโยงกับสถาบันฝ่ายผลิต จะทำให้การผลิตครูมีความสมดุล ระหว่างความต้องการใช้ และการผลิต เพื่อสามารถบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม ซึ่งตอนนี้ใช้เต็มรูปแบบคือ e-Meeting การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำให้ประหยัดกระดาษ และค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก
เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการบริหารงานบุคคล จึงต้องมีการปรับหลักเกณฑ์ในหลาย ๆ เรื่อง ที่ยังเป็นระบบเดิน ซึ่งจากนี้ไป สำนักงานก.ค.ศ. จะเป็นก.ค.ศ.ยุคใหม่ ที่ใช้ฐานข้อมูลในการบริหารจัดการ ส่วนระบบTRS การย้ายครูในภาพรวมนั้น จะมีการขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณ ไปยังสำนักงบประมาณ จำนวน 4 ล้านบาท เพื่อมาใช้ในการดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องสำคัญและเป็นนโยบายของ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการช่วยลดภาระครู
“ในการประชุมคณะกรรมการก.ค.ศ. ครั้งหน้า ก.ค.ศ.ได้เตรียมเสนอที่ประชุมพิจารณา ระบบอักขราวิสุทธิ์ ซึ่งเป็นระบบสำหรับการตรวจสอบงานเขียนเพื่อค้นหาข้อความที่อาจจะเป็นการลอกเลียนผลงานผู้อื่นด้วยฐานข้อมูลทางวิชาการขนาดใหญ่ เข้ามาใช้ในการตรวจสอบผลงานทางวิชาการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ส่งผลงานเพื่อขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะเข้ามาในระบบ DPA รวมไปถึงกรณีการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ ว17/2552 ด้วย ทั้งนี้ระบบดังกล่าว เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ มีฐานข้อมูลใหญ่ที่สุด ถือว่ามีมาตรฐานเดียวกับมหาวิทยาลัย ขอให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตระหนักถึงจริยธรรมในการจัดทำผลงานทางวิชาการเพื่อใช้ในการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำผลงาน โดยหากพบว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษารายใดที่มีการกระทำผิดโดยเฉพาะการคัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการ การจ้าง วาน ใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะนั้น ก.ค.ศ. จะดำเนินการพิจารณาลงโทษทางวินัยอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด เพื่อเป็นการยกระดับวิชาชีพครูให้มีมาตรฐานทั้งด้านวิชาการ ควบคู่ไปกับการมีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณในวิชาชีพต่อไป ส่วนความคืบหน้าการประเมินวิทยาฐานะ ผ่านระบบDPA นั้น ขณะนี้มีผู้ผ่านการประเมินไปแล้ว กว่า 68,640 ราย ไม่ผ่าน 6,090 ราย โดยแบ่งระดับชำนาญการ มีผู้ผ่านการประเมิน กว่า 93% ชำนาญการพิเศษ 84% เชี่ยวชาญ 12% ซึ่งถือว่า ค่อนข้างประสบความสำเร็จ”รศ.ดร.ประวิต กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 20 พ.ค.2567