เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวระหว่างการเป็นประธาน เปิดการประชุมวิชาการด้านลูกเสือ ประจำปี 2567 “งานลูกเสือเพื่อลูกเสือและสังคม” (Scout for Scout and Community) ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ ว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญ ที่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชนให้เกิดขึ้น โดยอาศัยกระบวนการลูกเสือเป็นเครื่องมือโดยผ่านนโยบายการขับเคลื่อนกิจกรรมลูกเสือของ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “ลูกเสือช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ” และ “ทำดี ทำได้ ทำทันที” เพื่อปลูกฝังและสร้างเจตคติที่ดี ให้แก่เด็กและเยาวชนของชาติ มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ มีระเบียบวินัย มีความรัก ความสามัคคี รู้จักเสียสละและบำเพ็ญตนให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม
นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า จากประเด็นที่เด็กและสังคมมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการเรียนวิชาลูกเสือ ว่าการเรียนวิชาลูกเสือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น มีความทันสมัยหรือไม่และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งหลักสูตรและกิจกรรมลูกเสือตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ มุ่งหมายให้ลูกเสือได้แสดงออกซึ่งทักษะและความสนใจของตนเอง และเพื่อให้ได้มีส่วนในการปฏิบัติกิจกรรมร่วมกัน มีจำนวน 76 วิชา ซึ่งเป็นวิชาที่มีประโยชน์ แต่สังคมยังไม่มีโอกาสได้รับรู้ หลายวิชามีความทันสมัยและอยู่ร่วมกับคนไทย อาทิ ลูกเสือนักดนตรี ลูกเสือการพูดในที่สาธารณะ (Public Speaking) วิชานักแสดงการบันเทิง หรือการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ในปัจจุบัน เป็นต้น ซึ่งวิชาเหล่านี้เป็นวิชาที่มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบัน แต่ขาดการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยและขาดการสื่อสารที่ให้สังคมได้รับรู้ ว่าในทุก ๆ วิชานั้นล้วนมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย และสิ่งที่เราได้มารวมกันในการประชุมวิชาการด้านลูกเสือในครั้งนี้ จะช่วยให้เราได้รู้ว่ากระบวนการลูกเสือ สิ่งใดที่ควรมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และการพัฒนารูปแบบการนำเสนอให้เข้ากับยุคสมัย เราจึงจะสามารถตอบคำถามได้ว่า การเรียนลูกเสือมีความทันสมัยและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพียงแต่ต้องสร้างการรับรู้ให้กับนักเรียนและผู้ปกครองให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนในวิชาลูกเสือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ รมว.ศึกษาธิการให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
“ศธ. มีความตระหนักถึงกระบวนการลูกเสือ มีการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการเรียน โดยมีจุดมุ่งหมายคือจะดำเนินการอย่างไรให้ทุกคนเกิดความสุข มีกระบวนการเรียนรู้ลูกเสือโดยมีอิสระ และยังยืนยันว่า “วิชาลูกเสือนั้นมีความจำเป็น” และการเรียนลูกเสือไม่ใช่เรื่องที่ล้าสมัย เพราะการเรียนลูกเสือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีการเรียนและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก แต่กระบวนการเรียนรู้ที่ดีนั้นจะต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัย ที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้กระบวนการลูกเสือที่มีประสิทธิภาพต่อไป”นายสิริพงศ์ กล่าวและว่า จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมวิชาการด้านลูกเสือในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการทางด้านลูกเสือ ซึ่งจะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ และต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมทางด้านลูกเสือ ที่จะช่วยให้กระบวนการลูกเสือเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนสามารถช่วยลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ตามนโยบายการศึกษาของศธ.ที่ว่า “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) และ “เรียนดี มีความสุข” ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ด้าน ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน ได้ดำเนินการจัดโครงการการประชุมวิชาการด้านลูกเสือฯ ในครั้งนี้ขึ้น ระหว่างวันที่ 15 – 16 พฤษภาคม 2567 เพื่อเป็นเวทีสำหรับการเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการ และวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือ Best practice ทางด้านลูกเสือ กระตุ้นให้เกิดการสร้างผลงานวิจัยที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมทางด้านลูกเสือ ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือและสร้างเครือข่ายการวิจัยงานวิชาการด้านกิจกรรมลูกเสือ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักวิชาการ นักวิจัย และบุคลากรทางการลูกเสือ ส่งผลงานเข้าร่วมการประชุมทางวิชาการฯ ประกอบด้วย ผลงานวิจัย 16 ผลงาน ผลงานทางวิชาการอื่น 22 ผลงาน และวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ 55 ผลงาน รวมจำนวนทั้งสิ้น 93 ผลงาน
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเวทีแลกเปลี่ยนผลงานทางวิชาการที่เกิดขึ้นในวันนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนวิชาลูกเสือ เพิ่มทักษะ สมรรถนะ มีความสมดุลทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา ที่สำคัญสามารถดำรงตนเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ และดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ตามนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ“ดร.วรัท กล่าว
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดฯ ได้มีการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “เยาวชนกับงานลูกเสือ” โดยได้รับเกียรติจาก นายสันติ สิงหาพรม ผอ.สำนักเลขาธิการ สลช. นางวรัญญภรณ์ ชาลีรักษ์ ผอ.สำนักพัฒนากิจการนักเรียน สพฐ. นายปราโมทย์ ทวีตั๊งตระกูล ผอ.รร.วัดราชบพิธ นางสาวโชติรส สุขมุข เนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่ รร.ฤทธิยะวรรณาลัย และนายกฤษดา บุญพิมโย ลูกเสือสามัญ วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการราชดำเนิน ร่วมการเสวนา
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 15 พฤษภาคม 2567