วันที่ 9 พ.ค.2567 ที่ห้องประชุมไทยาจารย์ ชั้น 3 สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยภายหลังประชุม กมว. ครั้งที่ 4/2567 ว่า ที่ประชุม ได้พิจารณาอนุมัติในหลักการการออกหนังสืออนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพประเภทครูให้แก่ผู้ที่สอบบรรจุได้ เพราะโดยปกติแล้วคนที่จะสอบจะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการสอบบรรจุ แต่วันนี้ได้พิจารณากรณียกเว้นสำหรับผู้ที่อยู่ในสาขาขาดแคลนที่มีความจำเป็น 8 สาขา ได้แก่ ภาษาเยอรมัน, วิศวกรรมศาสตร์ , อิเล็กทรอนิกส์ , การพยาบาล , กายภาพบำบัด, กิจกรรมบำบัด, จิตวิทยาคลินิก, และ อรรถบำบัด ซึ่งสาขาขาดแคลนเหล่านี้ไม่ได้จบสายครูมาโดยตรง แต่ได้รับสิทธิพิเศษในการสอบบรรจุได้ แต่อย่างไรก็ตามหลังจากได้รับการบรรจุแล้วก็ต้องมาขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั่วคราว โดยคุรุสภาได้อนุมัติในหลักการในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชาชีพการสอนชั่วคราว อายุ 2 ปีไว้แล้ว แต่ภายใน 2 ปีนี้ผู้ที่สอบบรรจุได้ในสาขาวิชาชีพขาดแคลนเหล่านี้จะต้องไปพัฒนาตนเอง เพื่อให้มีความรู้และมีสิทธิไปสอบขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูต่อไป ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่าถึงแม้ผู้ที่สอบบรรจุได้ในสาขาวิชาชีพขาดแคลนไม่ได้เรียนจบสายครูมาโดยตรง ก็มีสมรรถนะมีทักษะมีจิตวิญญาณความเป็นครูจากการที่ไปพัฒนาตนเองในรูปแบบต่าง ๆ จนสามารถสอบขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ แต่หากครบ 2 ปียังไม่ไปพัฒนาตนเอง ก็สามารถขอรับการต่ออายุใบอนุญาตชั่วคราว 2 ปี ได้ 3 ครั้ง แต่ไม่สามารถเป็นครูผู้ช่วยได้ ไม่สามารถสอบขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้
ประธาน กมว. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ขอความเห็นชอบการไม่รับเรื่องจรรยาบรรณของวิชาชีพไว้พิจารณา เนื่องจากการกล่าวหา หรือกล่าวโทษต่อผู้กระทำผิดนั้นล่วงเลยเวลา 1 ปี คดีหมดอายุความ เพราะผู้แจ้งกล่าวโทษหรือกล่าวหาพ้นระยะเวลา 1 ปีของการได้รับทราบรับรู้ในการกระทำผิดนั้นแล้ว แต่ถึงแม้ กมว.ไม่พิจารณา ถ้ามีคำสั่งลงโทษทางวินัย ก็ถือเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณ กมว.ก็จะบันทึกไว้ในทะเบียนของผู้ประกอบวิชาชีพ ในอนาคตหากมาขอต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หรือ มาขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพประเภทอื่น ๆ ข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกนำมาพิจารณาทันที ทั้งนี้วันนี้ที่ประชุมฯ ไม่รับเรื่องจรรยาบรรณของวิชาชีพไว้พิจารณาจำนวนทั้งสิ้น 28 ราย ก็ถือว่า กมว.สามารถปิดคดีที่ค้างไว้ได้อีก 28 คดี ซึ่งเป็นคดีที่ค้างมาตั้งแต่ปี 2547 -2564
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 9 พ.ค.2567
ผลการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ครั้งที่ 4/2567 วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2567
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2567 รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ครั้งที่ 4/2567 โดย ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา มอบหมายให้ ดร.สุดา สุขอ่ำ รองเลขาธิการคุรุสภา เป็นกรรมการและเลขานุการ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการในการออกหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (ประเภทครู) ให้ผู้สอบแข่งขันได้ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี พ.ศ. 2567 ที่มีคุณวุฒิในกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอกที่ขาดแคลนหรือมีความจำเป็นต่อการจัดการเรียนการสอนเป็นพิเศษ จำนวน 8 กลุ่มวิชา ได้แก่
1) ภาษาเยอรมัน
2) วิศวกรรมศาสตร์
3) อิเล็กทรอนิกส์
4) การพยาบาล
5) กายภาพบำบัด
6) กิจกรรมบำบัด
7) จิตวิทยาคลินิก
8) อรรถบำบัด
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เสนอขอให้คุรุสภาพิจารณาอนุญาตเป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย ที่ ก.ค.ศ. กำหนดคุณสมบัติเฉพาะ สำหรับตำแหน่งให้ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่คุรุสภาออกให้สำหรับปฏิบัติหน้าที่สอนก่อนการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยจำนวนครั้งของการขออนุญาตให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง บุคคลผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราวเพื่อพัฒนาตน ให้มีคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต และมอบสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เสนอคณะกรรมการคุรุสภาเพื่อทราบต่อไป
2. รับทราบการอนุมัติออกและต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา โดยเลขาธิการคุรุสภา ให้แก่ผู้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตและขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาตรวจสอบแล้ว มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
2.1 ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จำนวน 4,623 ราย
1) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จำนวน 3,665 ราย
2) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 729 ราย
3) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา จำนวน 50 ราย
4) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ จำนวน 179 ราย
2.2 ต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จำนวน 14,340 ราย
1) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จำนวน 13,179 ราย
2) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1,008 ราย
3) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา จำนวน 46 ราย
4) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ จำนวน 107 ราย
ที่มา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา