ใจฟูตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาเมื่อรู้ว่า “เทศกาลสงกรานต์” ของไทย ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO)
ปักธงท่องเที่ยวไทยขจรไกลทุกมุมโลก
ยิ่งเมื่อชะโงกมองยอดนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้าประเทศเราแล้ว เฉพาะต้นปี 2567 จนถึง 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บ้านเราต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วถึง 5,217,379 คน หากรวมถึงสงกรานต์นี้น่าจะมีอาคันตุกะจากนานาประเทศมาเพื่อสัมผัสเทศกาลนี้กันอีกไม่น้อย นี่ยังไม่รวมคนบ้านเรากันเองที่กลับไปเยือนภูมิลำเนานะ
ไปรดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่สืบสานวิถีไทยที่เคียงคู่กับ“น้ำ”และอีกหนึ่งที่เป็นคู่ชิดกันมานานเบิกบานคิมหันต์ก็คือ “ดินสอพอง”
ใช่แล้ว ดินสอพอง เป็น “คู่ชิด” แนบสนิทกับเทศกาลนี้มาช้านาน แม้ปัจจุบันจะมีแป้งแบรนด์ต่าง ๆ ให้เลือกจับจ่ายกันได้ง่าย ๆ ทว่าปฏิเสธไม่ได้ว่ารอย “ดินสอพอง” ที่ประพรมอยู่บนแก้มแถมด้วยชุดไทยพื้นบ้านนั้น ยังคงเป็นมนต์ขลังของสงกรานต์ที่ยากลบเลือน
“ดินสอพอง”… ของมันต้องมี เชื่อมวิถีวิทย์ในสงกรานต์
“ดินสอพอง” มาจากการนํา ดินมาร์ล (marl หรือ limestone) มา บด ร่อน ผสมน้ำ แล้วกรองให้สะอาด
marl หรือ limestone คือดินที่ประกอบด้วยสารประกอบของแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) มากกว่าร้อยละ 80 และมีส่วนประกอบอื่น ๆ อีก เช่น แมกนีเซียมคาร์บอเนต (MgCO3) แคลเซียมออกไซด์ (CaO) ซิลิคอนออกไซด์ (SiO) อะลูมิเนียมออกไซด์ (Al2O3) เหล็กออกไซด์ (FeO) และแมกนีเซียมออกไซด์ (MgO) ดินสอพองสดจะมีสีขาวและอาจพบสีเทา สีเทาอมฟ้า สีน้ำตาลหรือน้ำตาลแกมเหลือง ขึ้นอยู่กับปริมาณสารประกอบอื่นที่ผสมอยู่
ส่วนดินสอพองที่ใช้กับผิวหน้าและผิวกาย คือดินสอพองแปรรูปมาผสมน้ำ กรองเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อละเอียด นําไปฆ่าเชื้อ โดยนําไปเผาไฟ ซึ่งก็อาจมีส่วนผสมของผงพืชสมุนไพรที่บดละเอียดแล้วก็ได้ เช่น ขมิ้นชัน ไพล แต่งกลิ่น โดยทําให้แห้ง อยู่ในรูปก้อนหรือผง
เรียนรู้ได้ที่หนังสือเรียนเคมี สสวท.มัธยมศึกษาปีที่ 4 เล่ม 1 บทที่ 3 เรื่อง พันธะเคมี
หรือ เสริมความเข้าใจอีกนิดจากอีบุ๊ค เว็บไซต์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.eatgru.sc.chula.ac.th/Thai/interest/html/dictionary.html (คำศัพท์ M ข้อ 90) ว่า “ดินสอพอง” เป็นดินที่เนื้อเป็นสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นส่วนใหญ่ เมื่อนำมะนาวบีบใส่ น้ำมะนาวมีกรดซึ่งเมื่อทำปฏิกิริยากับแคลเซียมคาร์บอเนต เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นฟองฟู่ขึ้น เมื่อดูเผินๆ จึงเห็นว่าดินพองตัวเรียกว่า “ดินสอพอง”
โบราณใช้ทำแป้งประร่างกายเพื่อให้เย็นสบาย เมื่อผสมน้ำหอมเข้าไปด้วยกลายเป็นแป้งกระแจะนั่นเอง
ปัจจุบันใช้มากในการแก้ดินเปรี้ยว ผสมทำธูป ปูนซีเมนต์ เพราะเสียค่าขุดและค่าบดต่ำกว่าใช้หินปูนซึ่งมีเนื้อเป็นสารประกอบชนิดเดียวกัน แหล่งใหญ่มีในท้องที่ อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
นอกจากนี้ดินสอพองยังใช้ตกแต่งเครื่องเรือนที่ทำด้วยไม้ให้เรียบก่อนทาสี หรือน้ำมันเคลือบเงาด้วย ( พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๐)
ถ้าสรุปกระชับเข้าใจง่ายก็ต้องนี่เลย พจนานุกรมศัพท์วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี สสวท. https://escivocab.ipst.ac.th ซึ่งอธิบายว่าเป็นดินมีเนื้อเป็นสารผสมของแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นส่วนใหญ่ ใช้ทำแป้งนวล ใช้เป็นส่วนประกอบในการทำปูนซีเมนต์ เป็นต้น
นาทีนี้เติมเต็มความรู้กันแบบฉ่ำ ๆ แล้ว พาขันน้ำกับหัวใจไปกราบขอพรท่านผู้ใหญ่กันเถอะ
เตรียมไอเท่มพร้อมกันหรือยัง พกรอยยิ้มที่ทำให้หัวใจฟูฟ่อง และ ดินสอพอง ของขาดไม่ได้ แล้วเกี่ยวก้อยไปด้วยกันกับ คู่ชิดวิทย์สร้างสรรค์ คู่ขวัญ “สงกรานต์…ดินสอพอง”
****---****
อ้างอิง :
เฟซบุ๊กเคมี สสวท. : https://www.facebook.com/ChemistryIPST/posts/pfbid0XrR9XaiJjzpYbszE59yNk4zuq9QUmmbovXk16wSvq16Hw7rnGyzSMHpMvj9T2Ja8l
ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: http://www.eatgru.sc.chula.ac.th/Thai/interest/html/dictionary.html
ข่าว : https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1114125#google_vignette
ไทยรัฐออนไลน์: https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2746054