วันที่ 4 เมษายน 2567 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยถึง ผลการประชุมสภาการศึกษา(กกส.) ครั้งที่ 2/2567 เพื่อร่วมหารือ (ร่าง) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิต ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา พ.ศ. …. ณ ห้องประชุมภุชงค์ เพ่งศรี ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่มีพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ว่า การจัดการศึกษาแบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนในทุกระดับและประชาชนทุกช่วงวัยเข้าถึงการศึกษา สามารถนำผลการเรียนรู้และประสบการณ์การทำงาน หรืออาชีพ ทั้งจากในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย มารับรองและเทียบโอนกันได้ ซึ่งตอบโจทย์นโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในประเด็น ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครองที่ระบุว่า “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” พัฒนาการศึกษาผ่านระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ โดยผู้เรียนและประชาชนสามารถเรียนและทำงานได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งช่วยลดขั้นตอนและความซ้ำซ้อนในการศึกษา ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม ยกระดับคุณภาพชีวิต และคุณภาพแรงงานให้พร้อมการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า จากการที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิต ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา พ.ศ. …. มีสาระสำคัญคือ ธนาคารหน่วยกิต จะส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่จำกัดอายุและคุณวุฒิ เป็นการเชื่อมโยงการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ผู้เรียนสามารถลงทะเบียนสะสมหน่วยกิตในธนาคารหน่วยกิตสถานศึกษาที่ขึ้นทะเบียนมากกว่าหนึ่งแห่งได้ และนำผลการเรียนรู้หรือผลลัพธ์การเรียนรู้จากการศึกษา การฝึกอบรม การรับรองมาตรฐานอาชีพ และการสะสมประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการฝึกปฏิบัติหรือการเรียนรู้จริงจากที่ทำงานระหว่างการศึกษามาเทียบโอนหน่วยกิต และสะสมในธนาคารหน่วยกิตได้ตลอดชีวิตเป็นสิทธิของผู้เรียนและได้รับการคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด
“การนำหน่วยกิตที่สะสมไว้ในธนาคารหน่วยกิตเพื่อไปใช้ในการศึกษาเพื่อรับคุณวุฒิการศึกษาให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)กรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)ดำเนินการจัดทำประกาศเกี่ยวกับวิธีการ แนวทางและรูปแบบการศึกษาภายใน 60 สิบวันนับจากวันที่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะทำหน้าที่เป็นธนาคารหน่วยกิตกลาง ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน บูรณาการการดำเนินการของธนาคารหน่วยกิต พร้อมเร่งดำเนินการให้ทันปีการศึกษาที่จะถึงนี้”ดร.อรรถพล กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 4 เมษายน 2567