เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํากระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีข้อสั่งการตามนโยบาย “ลดภาระครู” ที่ให้เร่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การทำเอกสารของครูผู้สอนแบบเดิมสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบโดยเร็วที่สุด นั้น จากที่ได้รับเสียงสะท้อนของเพจดังในโลกออนไลน์ เรื่องภาระครูที่มีความซ้ำซ้อนอยู่มากในหลายเรื่อง ที่ยังคงแบบเดิมอยู่ซึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ครูต้องกรอกรายละเอียดด้วยลายมือใน ปพ.5 เป็นเอกสารที่ผู้สอนจัดทำขึ้นเพื่อใช้บันทึกผลการเรียนเป็นรายวิชา แสดงผลการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน ข้อมูลการวัดและประเมินผลการเรียน เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำหรับตรวจสอบยืนยัน สภาพการเรียน และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยจำนวนนักเรียนแต่ละชั้นเรียนทำให้ใช้เวลานานและล่าช้า และด้วยแนวปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งบางประการทำให้ไม่สามารถก้าวข้ามสู่ระบบดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำศธ. กล่าวต่อไปว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ทราบถึงเรื่องดังกล่าว และให้ความสำคัญกับนโยบาย “ลดภาระครู” ที่เน้นย้ำอย่างชัดเจนมาโดยตลอด ถึงการนำDigital Transformation มาพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองการลดภาระครู ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของโลก “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” จึงได้สั่งการให้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ดำเนินการในส่วนนี้เพื่อลดภาระครู ก้าวสู่องค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ใช้เทคโนโลยีพัฒนาแพลตฟอร์มการจัดทำใบ ปพ. 5 และทุกเอกสารที่เป็นใบสำคัญทางด้านการศึกษา เพื่อลดขั้นตอนของครูผู้สอนอย่างเป็นระบบ และในอนาคตจะต้องตรวจสอบและติดตามข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ได้ 100 % ซึ่งขณะนี้องค์การค้า ของ สกสค. ได้จัดทำระบบจัดเก็บเอกสารหลักฐานทางการศึกษาแบบอิเล็กทรอนิกส์เรียบร้อยแล้ว โดยดำเนินการผ่าน Block chain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัย ไม่สามารถปลอมแปลงหรือแก้ไขได้ เป็นประโยชน์ในระยะยาว
“สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ได้ดำเนินการพัฒนาระบบจัดทำและจัดเก็บเอกสารหลักฐานทางการศึกษาแบบระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยจัดทำคำสั่งที่ลงนามโดย รมว.ศึกษาธิการ และร่างแนวทางในการ Transform แปลงโฉมจากระบบเดิมที่ครูต้องบันทึกการผลการเรียนด้วยลายมือ ให้เป็นการลงระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อลดงานด้านเอกสารที่ซ้ำซ้อนของครูผู้สอน คาดว่าจะเสร็จสิ้นและ ให้สถานศึกษาเปิดใช้ได้อย่างเป็นทางการในปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามนอกจากจะเริ่มสพฐ.ดำเนินการเรื่องนี้แล้ว หน่วยงานอื่นก็จะทยอยปฏิบัติตามให้เป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย” นายสิริพงศ์กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านข่าวการศึกษาเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 21 มีนาคม 2567