ที่จังหวัดบุรีรัมย์ วันที่ 16 มีนาคม 2567 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดโครงการสัมมนานักบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูงทุกองค์กรหลัก/ในกำกับ ผู้บริหารระดับต้น ประมาณกว่า 70 คน เข้าร่วมประชุม ระหว่างวันที่ 15 – 17 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมบอลรูมชั้น 2 สนามช้างอารีนา โรงแรมอมารี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวตอนหนึ่งว่า เป็นครั้งแรกของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรหลัก/ในกำกับ ร่วมเปิดโลกทัศน์ในการสัมมนาครั้งนี้ ซึ่งสิ่งที่คาดหวังจากการสัมมนาครั้งนี้ คือ 1) อยาก transform แนวคิด/การทำงาน เพื่อให้ผู้บริหาร ศธ.ช่วยกันเปิดโลกทัศน์ เปิดมุมมองโลกให้กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโลกการศึกษา หรือโลกแห่งความร่วมมือกับเอกชน ที่จะร่วมตอบสนองต่อภาคการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ 2) ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำงาน 3) ให้คิดนอกกรอบการทำงาน ซึ่งได้เชิญผู้บริหารจากภาคเอกชนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน 4) สร้างความรักสามัคคีให้เกิดขึ้นกับผู้บริหาร ใหัเป็น “We are the One” เราเป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะแท่งหรือคนละแท่ง แต่วันนี้เราคือครอบครัวเดียวกัน “ครอบครัวกระทรวงศึกษาธิการ” 5) เป็นการเตรึยมประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในเดือนสิงหาคม 2567 6) อยากให้กระทรวงศึกษาธิการมี DNA ในภาพของกระทรวง อัตลักษณ์ การกำหนดวัฒนธรรมองค์กรจะเป็นอย่างไร ต้องหา DNA ของกระทรวงร่วมกันให้เจอ และ 7) อยากให้ร่วมกันขับเคลื่อนกระทรวงไปในทิศทางที่ถูกต้อง กว้างขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังจากการสัมมนา ฝากให้ผู้บริหารนำแนวคิด ประโยชน์ที่ได้รับ ไปถ่ายทอดต่อให้บุคลากรในหน่วยงาน เพื่อให้เกิดแรงขับในการทำงานร่วมกันทั้งกระทรวง อย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว แต่พยายามทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้ว เพื่อสามารถเติมเต็มได้ตลอดเวลา และอย่าลืมทำงานให้ “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” “ทำดี ทำได้ ทำทันที” ร่วมกันพิจารณาหาจุดที่เราขาด และช่วยเติมเต็มซึ่งกันและกัน
นายสุรศักดิ์ กล่าวบรรยายพิเศษ หัวข้อ แนวทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ว่า การสัมมนาครั้งนี้ เป็นการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายการศึกษากำหนดทิศทาง/แนวทางการดําเนินงานด้านการศึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในการดําเนินงาน ร่วมกันบูรณาการและสร้างภาคีเครือข่ายการบริหารจัดการศึกษา ตามนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมาก ทั้งนี้ ศธ.ได้แบ่งโครงสร้างส่วนราชการออกเป็น 4 องค์กรหลัก เพื่อขับเคลื่อน ภารกิจที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานปลัด ศธ. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รวมถึงองค์กรในกำกับ ทั้ง 4 องค์กรหลัก และหน่วยงานในกำกับ ซึ่งกิจกรรมลักษณะนี้ จะทำให้ผู้บริหารของ ศธ.ได้มีโอกาสในการพบปะ หารือ ส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน เกี่ยวกับแนวทางการทำงาน การตัดสินใจ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหา สร้างความไว้วางใจ เพื่อประสานความร่วมมือในการจัด การศึกษาให้มีคุณภาพ สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศ เพื่อวางเป้าหมาย ทิศทางการพัฒนา การศึกษาร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อคุณภาพการศึกษา คุณภาพของเด็กไทยในภาพรวมของประเทศต่อไป
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือ CP กล่าวบรรยายตอนหนึ่งถึงความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลก ปี ค.ศ. 2023-2030 ที่โลกจะมีทั้งความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูปดิจิทัล ความผันผวนภูมิอากาศ ขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สุขภาพมนุษย์/สังคมสูงวัย/ประชากรที่ลดลง ล้วนเป็นความท้าทายของผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ภาพรวมการศึกษาไทย อาจจะยังเป็นแบบเดิม คือ ครูยังเป็นศูนย์กลางความรู้และให้คำสั่ง นักเรียนต้องทำการบ้านให้เสร็จ สอบให้ผ่าน ส่งรายงานให้ทัน นั่งเรียนแบบหน้ากระดาน ไม่ได้เลือกเรียนตามความสนใจ ถนัดงานเดี่ยว ทำงานคนเดียว แต่ต่อไปการศึกษาไทยต้องเป็นยุค 5.0 คือ การให้ความรัก ความมั่นคง ปลอดภัย ความมั่นใจ ผู้เรียนตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล ปรับปรุงและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ บทบาทครูเปลี่ยนจาก Instructor เป็น Facilitator เป็น Guardian ที่มีเมตตาสูง ทำงานและสำเร็จพร้อมกับทีม มีคุณธรรมและธรรมาภิบาล มีการเรียนรู้การลงมือปฏิบัติ (Learning Center) ซึ่งเป็นเรื่องของทุกคน ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างความมั่นใจ และทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านการเรียนแบบลงมือปฏิบัติจริง
นายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด วิทยากรพิเศษ กล่าวว่า ยินดีต้อนรับสู่ “ลมหายใจแห่งบุรีรัมย์” “Breath of Buriram” ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์ในอดีตที่ผ่านมา ติดอันดับ 6 จังหวัดที่มีความยากจนที่สุดในประเทศไทย แต่ 14 ปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนแปลงไปมาก จากสนามฟุตบอล เป็นสนามแข่งรถ มีระบบเศรษฐกิจที่ดี จากที่เคยเป็นแค่เมืองผ่าน แต่ตอนนี้เป็น Destination หนึ่งของประเทศไทยในหลายด้าน สิ่งสำคัญที่บุรีรัมย์ทำอะไรก็ตาม คือ ต้องมีความเป็นมาตรฐาน (Buriram Standard) 3 ด้าน คือ ต้องมีความแปลก อลังการ และมีความเป็น World Standard ดัวย
“ความเชื่อของผมและคนบุรีรัมย์ คือ เราอาจมีทรัพยากรที่จำกัด แต่ความคิดสร้างสรรค์มีได้ไม่จำกัด เพราะสติปัญญาสามารถสร้างทรัพยากร สิ่งมีค่าให้เกิดขึ้นได้ จะเห็นได้จากหลายประเทศในตะวันออกกลาง ที่ต้องวางแผนลงทุน creativity เพื่อทดแทนทรัพยากรน้ำมัน-แก๊ส ที่อาจหมดไปในอนาคต หรือเมืองพัทยา ซึ่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ไม่ใช่ให้คนมาเที่ยวทะเล แต่ยังมีพิพิธภัณฑ์ สวนนงนุช สถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายให้คนไปเที่ยวได้“นายเนวิน กล่าวและว่า ดังนั้นจึงอยากฝากกระทรวงศึกษาธิการ ต้องก้าวข้ามเรื่องนี้ให้ได้ ไม่ว่าจะได้รับงบประมาณเท่าใด อย่าไปยึดติด ต้องยอมรับว่ากระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณสูง แต่ร้อยละ 95 เป็นงบรายจ่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินเดือน เราก็ต้องนำงบประมาณที่ได้รับอย่างจำกัด มาดูแลเด็กนักเรียนของเราให้มีคุณภาพ โดยวางแผนคิดที่เรื่องสำคัญจะสร้างสรรค์พัฒนาการศึกษาไทยให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
นายเนวิน กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่อยากฝากผู้บริหารกระทรวง คือ เรื่องการลดภาระครู นักเรียน ผู้ปกครองเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง หลายเรื่องดีๆ อาจนำมาปรับปรุงใช้ได้ เช่น การสอบเทียบในอดีต ทำอย่างไรให้เด็กที่จะเรียนมัธยมศึกษา 6 ปี สามารถที่จะจบได้ใน 5 ปี จะช่วยให้เด็กได้รับโอกาสจบไวขึ้น ทำงานหางานได้ไวขึ้น ผู้ปกครองมีหนี้สินน้อยลง รัฐบาลประหยัดงบประมาณได้มากขึ้น นอกจากนี้ ภาคเอกชนเน้นในเรื่อง Skill มากกว่า Degree ภาคการศึกษาจึงต้องปรับตัวเองให้ตรงกับ Demand Side เช่นเดียวกัน จะต้องวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะ ตามความต้องการจากภารผลิตและบริการ
นอกจากนี้ กระทรวงต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ดัวยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย และ AI มาใช้ในการศึกษา เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น เช่น นำครูดีๆ มาใส่ไนแอปพลิเคชันที่เด็กทั่วประเทศสามารถเลือกเข้ามาเรียนกับครูที่ดีที่สุดในประเทศไทยได้ ซึ่งจะช่วยให้ครูมีภาระลดลง เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาเด็กให้เป็นคนดี ฝากถึงผู้บริหาร อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือ ต้องมี Mindset ที่ดี เปิดใจรับฟังทุกคน อย่าคิดว่าตัวเองเก่งที่สุด การทำงานไม่วัดกันที่วุฒิอย่างเดียว แต่ต้องวัดที่ทักษะความสามารถ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ก็เฝ้าดูการทำงานของชาวกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เพราะเป็นกระทรวงหลักที่สำคัญต่อการสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ฝากให้ผู้บริหารนำแนวคิดไปปรับใช้ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาต่อไปในอนาคต
ด้าน ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการจัดโครงการในครั้งนี้ว่า เพื่อพัฒนาผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรในกำกับ สามารถขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา กำหนดทิศทางแนวทางการทำงาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน มีการบูรณาการและสร้างภาคีเครือข่ายทางการบริหารจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มบุคลากรที่ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรในกำกับ รวมทั้งสิ้น 75 คน โดยกำหนดกิจกรรม อาทิ การเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของภาคเอกชน การเสริมสร้าง Mindset สำหรับนักบริหาร การเสริมสร้างความรู้เพื่อการปรับเปลี่ยนเป็นองค์กรดิจิทัลของกระทรวงศึกษาธิการ (MoE Digital Transformation) รวมถึงศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอนของหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิผู้มากความรู้และประสบการณ์สำหรับนักบริหารมาร่วมเสวนา แบ่งปันความรู้ด้วย ทั้งนี้ในวันที่ 23 – 26 สิงหาคม 2567 กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 เพื่อหารือเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในกรอบอาเซียน อาเซียนบวกสาม และอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล” (Transforming Education in the Digital Era) ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่กลุ่มผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานในกำกับ จะได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน การแก้ไขปัญหา และเตรียมความพร้อมในการจัดประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมฯ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมข่าวสารการศึกษาได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 16 มีนาคม 2567