เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) แถลงข่าว “Take care ดูแลใจ มอบความรักเติมเต็มความสุข” โดยมีนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำศธ. และโฆษกศธ.ผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ เข้าร่วมฯ
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ศธ.ถือเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการศึกษา โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เพื่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากร ด้วยการเรียนรู้อย่างมีความสุข และมีทักษะชีวิต ซึ่งได้มีการนำนโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาพกายและจิตสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา อย่างเป็นรูปธรรม และมีการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างเข้มแข็ง ที่ผ่านมา ศธ. ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตรอบด้าน สร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้กับนักเรียน นักศึกษาและพัฒนาคุณภาพของครูและบุคลากร ให้สามารถส่งเสริม สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผู้เรียนให้มีการเรียนรู้ที่สมวัยด้วยการเรียนรู้อย่างมีความสุข และมีทักษะชีวิตผ่าน 14 โครงการแห่งความรัก บวก 1 แนวทางเติมเต็มความสุขให้กับครูและนักเรียน ดังนี้
1. Online Up Skill โดยการติวให้กับนักเรียนที่จะสอบเข้าศึกษาต่อ ในระดับ ม.1 และม.4 พร้อมอบรมเพิ่มทักษะสำหรับครูในช่วงปิดภาคเรียน
2.ลด(ภา)ระ เลิก โครงการที่ซ้ำซ้อน ปรับรูปแบบให้ทันสมัย
3.พัฒนาสุขภาวะกายและใจ เพิ่มมิติด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา และธรรมนูญสุขภาพในโรงเรียน
4. MOE Content Creator Award 2024 ด้วยการสร้างและพัฒนา Content เพื่อการสื่อสารด้านสุขภาพกายและจิตของนักเรียน นักศึกษา ครูในหัวข้อเด็กไทยฐานใจดี หัวข้อพลังความดีสร้างชาติ และหัวข้อ Coaching ปิ๊งอาชีพ ชิงเงินรางวัลกว่า 450,000 บาท
5.สุขภาพจิตดีเริ่มที่เรา “Hello Good Day” จัดทำรูปแบบการสื่อสารสุขภาพจิตในโรงเรียนเชิงบวกด้วยการสวัสดีตอนเช้า และจัดทำ LINE STICKER “MOE Happy” เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการสร้างความตระหนักการมีส่วนร่วมและการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนร่วมกัน
6. Guidance Teacher Skill Up พัฒนาครูแนะแนวในทุกสังกัดให้สามารถเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ดูแลช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา และพัฒนาศักยภาพพร้อมดูแลสุขภาพจิตผู้เรียน
7.พัฒนาความเข้มแข็งเครือข่ายนักจิตวิทยาโรงเรียน เพิ่มทักษะการฟัง การให้คำปรึกษา และทักษะของนักจิตวิทยาคลินิกที่จำเป็นต้องใช้ในสถานศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาค
8. MOE Consulting Platform สร้างแพลตฟอร์มให้คุณครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ได้ขอรับการปรึกษาและการดูแลสุขภาพจิต จากจิตแพทย์และนักจิตวิทยาในรูปแบบ Face to Face บนระบบ Online
9.ใส่ใจสุขภาพจิตนักเรียนด้วย Platform School Health HERO ต่อยอดขยายผลการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนวิถีใหม่ให้ครอบคลุมทุกสังกัด
10. Bully Free zone สร้างกลไกป้องกันการ Bully ในสถานศึกษา ที่ครอบคลุมทั้งระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับต้นสังกัด เพื่อคอยให้คำปรึกษา เป็นที่พึ่งพิงสร้างความไว้วางใจ ความรู้สึกปลอดภัย คอยรับฟัง รวมทั้งช่วยเหลือคุ้มครองนักเรียนที่ถูกกระทำอย่างเหมาะสม พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจประเมิน รักษา ฟื้นฟู เยียวยาจนจิตใจและร่างกายสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
11.จัดตั้งหน่วยบริการแนะแนวให้การปรึกษาทางการศึกษา อาชีพ คุณภาพชีวิต และบริการตรวจสุขภาพใจอย่างครบครัน ครอบคลุม 928 แห่งทั่วประเทศ
12.ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย
13.สถานศึกษาปลอดภัย 1 วิทยาลัย 1 ครูอนามัย
14 .พัฒนากระบวนทัศน์ทักษะ อารมณ์สังคมในผู้เรียน ให้รู้ตน รู้คน รู้สังคม รู้คิดบวก มีทักษะทางสังคมและอารมณ์ในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนอีก 1 แนวทางสนับสนุนกิจกรรม 3 ด้าน ทั้งศิลปะ ดนตรี กีฬา
“ศธ. จะดำเนินงานโครงการแห่งความรัก เติมเต็มความสุขให้กับครูและนักเรียน ด้วย 14 โครงการ บวก 1 แนวทาง สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากสถานศึกษา และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงาน “ศึกษา Take care ดูแลใจ มอบความรักเติมเต็มความสุข” ให้สำเร็จ กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มความสุขในการเรียน การทำงาน ให้กับทุกท่าน ถือเป็นการสร้างพลังบวกให้เกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้เห็นผลสัมฤทธิ์ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นไป”รมว.ศธ. กล่าว
ด้านนายสิริพงษ์ กล่าวว่า วันวาเลนไทน์นี้ อยากฝากผู้ปกครองให้ความรู้ ความเข้าใจให้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งอยู่ในวัยที่อยากรู้อยากเห็น และกำลังเติบโตให้มีความเข้าใจเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้อง รวมถึงการป้องกันที่เหมาะสม โดยส่วนตัวคิดว่าเรื่องดังกล่าว สามารถพูดคุยกันได้ และพ่อแม่ควรที่จะหาโอกาสพูดคุยกับลูกๆ เพื่อทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท้องไม่พร้อม และโรคติดต่อต่าง ๆ อยากให้ผู้ปกครองทุกคนเปิดใจ เพื่อชีวิตครอบครัวที่มีความสุข ส่วนที่หลายหน่วยงานอยากให้มีการขายถุงยางอนามัยในโรงเรียนแต่ก็ยังมีข้อกังวลว่า จะเป็นการส่งเสริมเรื่องเพศสัมพันธ์ให้เด็กก่อนวัยอันควรนั้น ในยุคสมัยหนึ่งการซื้อถุงยางอนามัยอาจจะเป็นเรื่องน่าอาย แต่ปัจจุบันถ้าเราอาย และคิดว่า พูดคุยกันไม่ได้ ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้นอยากให้ปรับมุมมองว่า และแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567