เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาความรุนแรงในสถานศึกษาว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ใฟ้ความสำคัญกับปัญหานี้อย่างมาก โดยที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกับ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อออกแบบการแก้ปัญหาความรุนแรงร่วมกันอย่างจริงจัง ซึ่งจะเน้นทั้งการป้องกันและปราบปราม เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษาอาชีวะ ทั้งนี้แม้ว่า กลุ่มเด็กที่ใช้ความรุนแรงจะมีอายุน้อย แต่ก็ไม่สามารถปล่อยไว้ได้ เพราะอาจจะกลายเป็นอาชญากรรมสังคม และถึงแม้จะมีแค่ส่วนน้อย แต่หากปล่อยให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง ก็จะกลายเป็นลัทธิเลียนแบบได้
เลขาธการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา สพฐ.มีมาตรการป้องกันอยู่แล้ว โดยได้ออกระเบียบและแจ้งให้โรงเรียนทั่วประเทศรับทราบเรียบร้อยแล้ว รวมถึงกำชับให้ผู้บริหาร และครู ดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด แต่ปัญหาที่พบคือ ระยะหลัง เหตุการณ์ความรุนแรงมักจะไปเกิดขึ้นภายนอกสถานศึกษา ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องเข้าไปดูแล ส่วนโรงเรียนก็จะต้องมีหน้าที่ประสานความร่วมมือให้ข้อมูลกับทางเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะรายชื่อเด็กกลุ่มเสี่ยง ที่จะต้องส่งข้อมูลไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ซึ่งตรงนี้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็เห็นตรงกัน ว่าจะต้องช่วยกันบูรณาการ เพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นภายนอกโรงเรียนด้วย
“ส่วนกิจกรรมเสริมทักษะ เพื่อให้เด็กมีวินัย รู้จัดคิดวิเคราะห์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ซึ่งอยู่ในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ที่ทุกโรงเรียนต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ผู้บำเพ็ญประโยชน์หรือจิตอาสา ที่บรรจุไว้ในชั่วโมงการเรียนการสอน มีงบประมาณดำเนินการ หากเด็กไม่เข้าเรียนก็ไม่สามารถเลื่อนชั้นได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทุกโรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอน แต่ก็มีเสียงสะท้อนว่า เด็กอยากให้เลิกสอน ซึ่งก็คงต้องไปดูรายละเอียด โดยอาจจะต้องมีการทบทวน หาสาเหตุว่า ทำไมเด็กจึงอยากให้ยกเลิกกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนต่าง ๆ เช่น กิจกรรมหน้าเสาธง กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ซึ่งพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ก็รับทราบปัญหา และขอให้สพฐ.ไปดู เพื่อปรับรูปแบบใหม่ ดังนั้นสพฐ.จะกลับมาทบทวนและวิเคราะห์การจัดการเรียนการสอน กิจกรรมเหล่านี้ ว่าเพราะอะไรเด็กจึงไม่อยากเรียน โดยผมได้มอบให้ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ.เข้าไปดูแลออกแบบว่า จะจัดกิจกรรมอย่างไรให้เด็กรู้สึกว่า เรียนแล้วเกิดประโยชน์ มีคุณค่า” ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567