วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( กพฐ.) มอบหมายให้ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ทั่วประเทศ โดยมีผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการ สพท. ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ สพฐ. อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ
นายพัฒนะ กล่าวว่า การประชุมวันนี้มีเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ เรื่องการรับนักเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 และการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้น และนโยบายระยะเร่งด่วนของ สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดย สพฐ. เน้นย้ำเรื่องการรับนักเรียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และมีข้อห่วงใยกรณีการรับนักเรียน “เงื่อนไขพิเศษ” นอกเหนือจากที่ สพฐ. กำหนดไว้ 4 ข้อ ดังนี้ 1) นักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้บริจาคที่ดิน หรือสิ่งก่อสร้างเพื่อจัดตั้งโรงเรียนซึ่งมีเงื่อนไขหรือข้อตกลงร่วมกันมาก่อน ตามมติคณะรัฐมนตรี ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 2) นักเรียนที่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส 3) นักเรียนที่เป็นบุตรผู้เสียสละเพื่อชาติ หรือผู้ประสบภัยพิบัติที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ดูแลเป็นพิเศษ 4) นักเรียนที่เป็นบุตรข้าราชการครู และบุคลากรในโรงเรียนนั้น สำหรับเงื่อนไขพิเศษอื่นๆ นอกเหนือจาก 4 ข้อดังกล่าว หากโรงเรียนเห็นว่ามีความจำเป็นให้เสนอคณะกรรมการรับนักเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษาให้ความเห็นชอบ และต้องได้รับความเห็นชอบก่อนการประกาศรับสมัครนักเรียน โดยให้คณะกรรมการรับนักเรียนระดับโรงเรียน กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ รวมกับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ ไม่เกินร้อยละ 20 ของแผนการรับนักเรียนห้องเรียนปกติ และประกาศหลักเกณฑ์ก่อนการประกาศรายชื่อนักเรียนที่ได้รับการพิจารณาตามเงื่อนไขพิเศษให้สาธารณชนทราบ ทั้งนี้ กรณีเงื่อนไขพิเศษของนักเรียนที่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส ให้ประกาศเฉพาะเลขประจำตัวผู้ได้รับการคัดเลือก โดยให้มีการจัดทำฐานข้อมูลรายชื่อและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเป็นความลับ เพื่อเป็นการปฏิบัติตามหลักสิทธิของเด็ก ตามหลักการสิทธิมนุษยชนของเด็กฯ สำหรับเงื่อนไขพิเศษอื่น ๆ จะต้องมีหลักเกณฑ์การรับ การคัดเลือกนักเรียน และขอบเขตในการพิจารณาที่สามารถตรวจสอบได้ ไม่เป็นการใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวาง
รองเลขาธิการ กพฐ. ยังได้กล่าวถึงกรณีการเก็บเงินบำรุงการศึกษาว่า จากการติดตามของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า โรงเรียนบางแห่งมีการเก็บเงินค่าใช้จ่าย โดยสมาคมผู้ปกครองซึ่งเป็นการเก็บเงินที่นอกเหนือจากโรงเรียนได้ประกาศไว้ สพฐ. ได้ให้ความสำคัญต่อกรณีดังกล่าวและขอกำชับว่าให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเก็บเงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ประกาศ ณ วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้สถานศึกษาสามารถเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษาได้ โดยสถานศึกษาต้องออกใบเสร็จให้กับผู้ปกครองเมื่อรับเงินเข้าสู่สถานศึกษาแล้ว และให้จัดเก็บตามอำนาจการเก็บรักษาเงินรายได้สถานศึกษา ตามหนังสือ สพฐ. ที่ ศธ 04002/383 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2549 อย่างเคร่งครัด
นายพัฒนะ กล่าวต่อไปว่า ส่วนในเรื่องของการจัดทำแผนบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ 2567 ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ 1) การวิเคราะห์บริบทของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา (School Mapping) 2) การจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบาย และจุดเน้นและนโยบายระยะเร่งด่วน (Quick Win) ของ สพฐ. และนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทำการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพบริบทของโรงเรียนในสังกัด พร้อมจัดกลุ่มตามคุณภาพการศึกษา และจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายฯ โดยใช้ข้อมูลจากแผนปฏิบัติการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ได้จัดทำไว้แล้ว ว่ามีโครงการหรือกิจกรรมใด ที่สอดคล้องกับนโยบายและจุดเน้นฯ และนโยบายระยะเร่งด่วน ให้นำข้อมูลโครงการหรือกิจกรรมนั้น มาระบุในแบบฟอร์มที่กำหนด ทั้งนี้ จะต้องกำหนดโครงการเพื่อขับเคลื่อนตามนโยบายและจุดเน้นฯ และนโยบายระยะเร่งด่วน
ทุกนโยบาย อย่างน้อยนโยบายละ 1 โครงการ เว้นแต่นโยบายระยะเร่งด่วน เรื่อง การลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ข้อ 3 “ส่งเสริมระบบธนาคารหน่วยกิต (CREDIT BANK)” ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอาจไม่ได้ดำเนินการในข้อนี้ สำหรับโรงเรียนก็เช่นเดียวกัน ให้ดำเนินการวิเคราะห์บริบทของตนเอง และจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายฯ โดยใช้ข้อมูลจากแผนปฏิบัติการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และ/หรือกำหนดโครงการ/กิจกรรม และเป้าหมายการดำเนินงานที่เหมาะสมกับจุดที่ควรพัฒนา หรือแนวทางการพัฒนาให้ได้มาตรฐานที่สูงขึ้น ตามการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของการประชุม ว่าที่ร้อยตรี ธนุ ได้เข้ามาพบปะกับผู้เข้าร่วมประชุม และได้เน้นย้ำการขับเคลื่อนนโยบายของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ในเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยกำชับให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และสถานศึกษา ปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเคร่งครัด รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนอย่างจริงจัง โดยยึดหลัก 3 ป คือ ปลูกฝัง ป้องกัน และปราบปราม เพื่อแก้ไขปัญหานักเรียนทะเลาะวิวาทได้อย่างตรงจุด พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนโดยใช้วิธีการเชิงบวกและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง และทำงานบูรณาการร่วมกับฝ่ายปกครอง และตำรวจให้มากขึ้น เพื่อสวัสดิภาพของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567