เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน การประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ของศธ. ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงร่วมมือหรือ เอ็มโอยู แก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยมีสาระสำคัญ 4 มาตรการ คือ ขอความร่วมมือกับสถาบันการเงิน และสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 4.75 ชะลอการฟ้องล้มละลายครูที่มีหนี้วิกฤต หนี้ที่ไม่ก่อนให้เกิดรายได้หรือ NPL เป็นระยะเวลา 3 ปี ขยายงวดการผ่อนชำระถึงอายุ 75 ปี และการรวมหนี้รีไฟแนนซ์ โดยจากนี้จะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย เป็นต้น เพื่อลงนามความร่วมมืออย่างเป็นทางการต่อไป
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ผ่านสถานีแก้หนี้ในจังหวัดต่าง ๆ พบว่า สามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินครูไปได้ระดับหนึ่ง และขณะนี้ทุกหน่วยงานได้เข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหาหนี้สินครู อย่างเช่น กรมส่งเสริมสหกรณ์ ก็ขอความร่วมมือไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ ให้ช่วยกันลดดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ให้เกินร้อยละ4.75 ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากหลายแห่ง บางแห่งยังมีการรวมหนี้รีไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่อยู่ในร่างเอ็มโอยู โดยมาตรการนี้ ขึ้นอยู่กับศักยภาพของสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์แต่ละแห่ง หากที่ใดสามารถรวมหนี้ก็ถือเป็นเรื่องดี ขณะที่ธนาคารออมสิน ก็ยืนยันมาแล้วว่า จะในช่วงระยะ 3 ปีนี้ก็ไม่มีการฟ้องล้มละลายครูที่มีหนี้วิกฤต หรือหนี้NPL ส่วนมีจำนวนเท่าไรนั้น ไม่สามารถบอกได้ เพราะเป็นข้อมูลของทางธนาคาร
“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของทุกภาคส่วน โดยให้แต่ละกระทรวงให้ไปออกระเบียบในการหักเงินเดือนโดยยกตัวอย่างกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นต้นแบบ ดังนั้นผมจึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินครูได้ในรัฐบาลชุดนี้”นายสุรศักดิ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ได้มีมติย้ำ ตามมติคณะรัฐมนตรีแล้วว่า คนที่ถูกฟ้องล้มละลายไม่ต้องให้ออกจากราชการ เพราะครูไม่ได้ทุจริตเพียงแต่มีหนี้สินขั้นวิกฤติเท่านั้น ซึ่งระเบียบดังกล่าวใช้กับหน่วยงานราชการทุกแห่ง นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้กำชับไปยังหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด ว่าการหักเงินเดือนชำระหนี้จะต้องให้ครูมีเงินเหลือใช้ในชีวิตประจำวันร้อยละ 30 ของเงินเดือน ซึ่งพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็มีความห่วงใย กำชับไปยังหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงให้มีการแก้ไขหนังสือยินยอมให้หักหนี้ จากเดิมที่ไม่มีการกำหนดขั้นต่ำไว้ เป็น ยินยอมให้หักเงินเดือนได้ไม่เงินร้อยละ70 ของเงินเดือน หรือต้องเหลือเงินไว้ใช้จ่าย 30% หากหักเงินเกินผู้ถูกหักเงินสามารถฟ้องร้องเป็นคดีอาญาได้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567