คณะแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรับหลักสูตรครั้งใหญ่ เปลี่ยนวิธีการประเมินผล ยกเลิกให้เกรด A-F เป็นตัววัด เริ่มใช้ในนิสิต ปี 67
วันที่ 29 ม.ค. 2567 ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ รศ.นพ.ศักนัน มะโนทัย รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ นสพ.รหัท หลงสมบูรณ์ นายกสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัว เปิดตัว MDCU Change for the Better “หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2567)” หลักสูตรฉบับภาษาไทยสำหรับนิสิตที่จะเข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป
หลักสูตรนี้ มีการพัฒนาหลายด้าน โดยเฉพาะ จะมีการการปรับเปลี่ยนการแสดงผลการประเมินนิสิต จากเดิมที่จะมีการให้เกรด A – F แต่ต่อไป จะใช้การประเมินแบบ S/U (Satisfactory/Unsatisfactory) หรือ สอบผ่าน หรือ สอบตก แค่นั้น เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะให้แก่ผู้เรียน
โดยวิธีการประเมินผลดังกล่าว มีงานวิจัยที่มีผลการศึกษาว่า เป็นวิธีช่วยลดระดับความเครียดของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ร่วมกันได้ดีขึ้น และเสริมสร้างสุขภาวะของผู้เรียน ในขณะที่ผลการสอบและพฤติกรรมในการเรียนการปฏิบัติงานไม่ได้ลดลง นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างเสริมแรงจูงใจในการเรียนรู้จากภายใน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย
ทั้งนี้ การประเมินผลแบบใหม่นี้ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จะถือเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกในประเทศไทยที่นำมาใช้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก PPTV HD 36 วันที่ 29 มกราคม 2567