ไปยาลใหญ่ หรือ เปยยาลใหญ่
ฯลฯ ไปยาลใหญ่เป็นเครื่องหมายวรรคตอนที่ประกอบด้วย ไปยาลและอักษร ล.ลิง ซึ่งอยู่ระหว่างไปยาล 2 ตัว ลักษณะดังนี้ ฯลฯ คำว่า ไปยาล มาจาก คำว่า เปยฺยาล ในภาษาบาลี ซึ่งแปลว่า ย่อ ใช้สำหรับละข้อความข้างท้ายที่อยู่ในประเภทเดียวกัน ซึ่งยังมีอีกมาก แต่ไม่ได้นำมาแสดงไว้
สำหรับการอ่านเครื่องหมายไปยาลใหญ่ หรือ เปยยาลใหญ่ ที่อยู่ข้างท้ายข้อความ ให้อ่านว่า “ละ” หรือ “และอื่น ๆ”
ตัวอย่าง
สำนวนไทยที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “หน้า” มี หน้าตาย หน้าเป็น หน้าบาน ฯลฯ
อ่านว่า "หน้าตาย หน้าเป็น หน้าบาน ละ" หรือ "หน้าตาย หน้าเป็น หน้าบาน และอื่น ๆ"
สิ่งของที่ซื้อขายกันในตลาดมี เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ น้ำตาล น้ำปลา ฯลฯ
อ่านว่า "เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ น้ำตาล น้ำปลา ละ" หรือ "เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ น้ำตาล น้ำปลา และอื่น ๆ"
ผลไม้ไทยมีขนุน มังคุด ทุเรียน ลิ้นจี่ เงาะ ฯลฯ
อ่านว่า "ขนุน มังคุด ทุเรียน ลิ้นจี่ เงาะ ละ" หรือ "ขนุน มังคุด ทุเรียน ลิ้นจี่ เงาะ และอื่น ๆ"
แหล่งข้อมูล
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. ไปยาลใหญ่.
ขอบคุณที่มาจาก ทรูปลูกปัญญา