ไปยาลน้อย หรือ เปยยาลน้อย
เครื่องหมายวรรคตอน ไปยาลน้อย มีลักษณะดังนี้ ฯ ใช้สำหรับเขียนย่อคำให้สั้นลง โดยมีหลักเกณฑ์การใช้ดังต่อไปนี้
1. ใช้ละคำที่รู้กันดีแล้ว
โดยละส่วนท้ายไว้เหลือแต่ส่วนหน้าของคำพอเป็นที่เข้าใจ
ตัวอย่าง
กรุงเทพมหานคร เขียนเป็น กรุงเทพฯ
โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เขียนเป็น โปรดเกล้าฯ
ทูลเกล้าทูลกระหม่อม เขียนเป็น ทูลเกล้าฯ
ล้นเกล้าล้นกระหม่อม เขียนเป็น ล้นเกล้าฯ
2. ใช้ละส่วนท้ายของวิสามานยนาม ซึ่งได้กล่าวมาก่อนแล้ว
ตัวอย่าง
มหามกุฏราชวิทยาลัย เขียนเป็น มหามกุฏฯ
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เขียนเป็น กรมพระราชวังบวรฯ
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เขียนเป็น วัดพระเชตุพนฯ
ราชสกุล ที่ลงท้าย ณ อยุธยา เช่น อิศรางกูร ณ อยุธยา เขียนเป็น อิศรางกูรฯ หรือ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เขียนเป็น เทพหัสดินฯ
3. คำ "ฯพณฯ" อ่านว่า พะนะท่าน
ใช้เป็นคำนำหน้าชื่อหรือตำแหน่งข้าราชการผู้ใหญ่ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีขึ้นไป และเอกอัครราชทูต เป็นต้น
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
ฯพณฯ เอกอัครราชทูตไทยประจำองค์การสหประชาชาติ
แหล่งข้อมูล
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. ไปยาลน้อย หรือ เปยยาลน้อย.
ขอบคุณที่มาจาก ทรูปลูกปัญญา