เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศึกษาธิการ)เปิดเผยความคืบหน้าที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติยกเลิกการอยู่เวรของครู ว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องกับเรื่องการเมือง เป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ตั้งใจทำเพื่อเป็นการลดภาระครู โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งมีครูจำนวนน้อย และส่วนใหญ่จะมีแต่ครูผู้หญิง ซึ่งก่อนหน้านั้น ก็ได้มีการประสานที่จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครองและอาสาสมัครต่าง ๆ เข้าไปช่วยดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนอยู่แล้ว ประกอบกับเกิดเหตุการณ์ครูอยู่เวรแล้วถูกทำร้ายที่จังหวัดเชียงรายขึ้นมา จึงเสนอให้ ครม.พิจารณายกเว้นการอยู่เวรของครู เพราะเห็นว่า เรื่องชีวิตและร่างกายของคนสำคัญกว่าทรัพย์สิน ที่ไม่อาจจะทดแทนได้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า เมื่อครม.มีมติยกเลิกการอยู่เวรของครูแล้ว ก็มีมาตรการมาทดแทน เพื่อป้องกันทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย โดยประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครองและชุมชน เข้าไปช่วยตรวจตรา แต่ไม่ได้ให้ไปเฝ้าอยู่ประจำ เป็นการเข้าไปตรวจตรา เช่นเดียวกันโครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ทั้งนี้การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เป็นระบบ และเป็นเรื่องที่ชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยส่วนตัวคิดว่า บางทีไม่จำเป็นต้องมีคนไปอยู่เฝ้าประจำ เพราะประชาคม และชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสถานที่ราชการต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะโรงเรียน ที่ต้องเข้ามาช่วยกันดูแล เจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็มีความสำคัญที่จะต้องมาช่วยดูแลความปลอดภัย
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อครูไม่ต้องอยู่เวรแล้ว นักการ ภารโรงต้องมาทำหน้าที่เข้าเวรแทนครูใช่หรือไม่ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตรงนี้ต้องไปดูภาระงาน แต่ก็อาจจะเป็นหน้าที่หนึ่งในการดูแลความปลอดภัยของโรงเรียนด้วย แต่คงไม่ใช่เข้าเวรแทนครู ดังนั้นต้องไปดูในรายละเอียดว่า ธุรการ ภารโรงมีหน้าที่ใดบ้าง เช่น การทำความสะอาด ดูแลความปลอดภัย การดูแลความเรียบร้อย เปิด ปิดอาคารเรียน ไฟฟ้า ภายในสถานศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากให้เอาการเมืองมาเกี่ยวข้องกับการศึกษา การเมืองก็คือการเมือง แต่เรื่องนี้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา เป็นการลดภาระครู ซึ่งศธ. พยายามทำให้ดีที่สุด ไม่ใช่แค่การยกเลิกอยู่เวรอย่างเดียว แต่รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้ครูมีเวลาทุ่มเทให้กับการสอนหนังสือมากที่สุด ส่วนจะส่งผลให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นหรือไม่นั้น ดูได้จากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กเป็นหลัก ถือเป็นการวัดผลที่ดีที่สุด ซึ่งต้องใช้เวลา ไม่สามารถบอกได้เร็ววันนี้ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่า ครูจะมีความสุข เชื่อว่าคุณภาพการศึกษาจะดีขึ้นแน่นอน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 25 มกราคม 2567