วันที่ 25 มกราคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วย นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา และนางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ร่วมแถลงข่าวชี้แจงแนวทางในการดูแลความปลอดภัยสถานศึกษา หลังจากมติ ครม. ยกเลิกการเข้าเวรครู และนักเรียนไทยมีชั่วโมงเรียนมากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นประเด็นที่สาธารณชนให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้
สำหรับประเด็นแรก นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สืบเนื่องจากมติ ครม. ที่ยกเลิกการเข้าเวรครู และ สพฐ. ได้มีข้อสั่งการให้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ประสานงานกับโรงเรียนในสังกัดให้ดำเนินการดูแลสถานศึกษา โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยกับการเข้าเวร และมีการเปลี่ยนวิธีการใหม่หลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องการประสานขอความร่วมมือฝ่ายปกครองในพื้นที่ อาทิ ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนทีมงานของกระทรวงมหาดไทย และผู้เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องความปลอดภัยให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และมีการประชุมสถานศึกษา หากสถานศึกษาแห่งใดมีศักยภาพในการจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือนักการภารโรงอยู่แล้ว ก็สามารถมอบหมายงานในด้านการรักษาความปลอดภัยได้โดยที่ครูไม่ต้องอยู่เวร และทำหน้าที่เพียงกำกับผ่านระบบต่างๆ สำหรับโรงเรียนที่มีกล้อง CCTV ซึ่งครูก็สามารถใช้เครื่องมือนี้ในการรักษาทรัพย์สินทางราชการได้ รวมถึงกรณีที่เกิดเหตุอื่นๆ เช่น ไฟไหม้ อุบัติภัย สาธารณภัย ก็ต้องขอความร่วมมือจากชุมชน องค์กรท้องถิ่น ซี่งถือว่าเป็นเจ้าของโรงเรียนร่วมกัน ช่วยกันดูแลอย่างทั่วถึงด้วย
“นอกจากนี้ ทางกระทรวงศึกษาธิการ นำโดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ได้มีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความร่วมมือในการจัดชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านเข้าไปดูแลสถานศึกษาแล้ว และในส่วนของ สพฐ. ก็มีข้อสั่งการโดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้สั่งการให้มีหนังสือขอความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจนขึ้น และขอขอบคุณอีกครั้งที่แต่ละหน่วยงานต่างดำเนินการในหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี เพื่อร่วมกันดูแลสถานศึกษา ให้นักเรียนและครูมาโรงเรียนอย่างอุ่นใจ ให้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เกิดขึ้นได้จริง” นายธีร์ กล่าว
ต่อมาในประเด็นนักเรียนไทยมีชั่วโมงเรียนมากที่สุดในโลก นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผอ.สวก. กล่าวชี้แจงว่า ด้วยนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) นโยบายที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการลดภาระของคุณครูกับการลดภาระของนักเรียน ดังนั้นในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้จัดทำแนวทางในการลดการบ้านแล้วเพิ่มการเรียนรู้ให้กับนักเรียน โดยการให้การบ้านที่สอดคล้องกับสภาพการเรียนรู้ของนักเรียน ก็จะช่วยลดภาระเรื่องการบ้านให้กับนักเรียนได้ ทั้งนี้ หลักสูตรของ สพฐ. จัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ปรับปรุง พ.ศ. 2562) ซึ่งช่วงเวลาของการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 รวมวิชาพื้นฐาน วิชาเพิ่มเติม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ในปีการศึกษาหนึ่งรวมกันทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมง ในขณะที่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเรียนไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมง และนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายชั้น ม.4-6 เรียนรวมกัน 3 ปีไม่น้อยกว่า 3,600 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ในหนึ่งปีการศึกษามี 40 สัปดาห์ หรือ 200 วัน ดังนั้น ในระดับประถมศึกษา จะใช้เวลาในการจัดการเรียนรู้โดยเฉลี่ยวันละไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง ในขณะที่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย โดยเฉลี่ยวันละไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง ซึ่งหากดูจากกระแสข่าวในโซเชียล พบว่ามีบางกระแสข่าวสื่อสารว่าเด็กนักเรียนไทยเรียนมากที่สุดในโลก ซึ่งอาจจะมีความคลาดเคลื่อนต่อความเข้าใจของบุคคลทั่วไปเพราะไม่สามารถระบุแหล่งข้อมูลในการจัดเก็บ หรือบางครั้งการนับชั่วโมงก็นับตั้งแต่เวลาที่นักเรียนมาโรงเรียนไปจนถึงสิ้นสุดเวลาเรียนของวันนั้นโดยที่นับรวมช่วงเวลาพักเที่ยงหรือเวลาเบรกด้วย เป็นเวลา 9.5 ชั่วโมง ซึ่งทางสำนักวิชาการฯ สพฐ. ก็ได้ลงไปเก็บข้อมูลโดยเอาตารางสอนของแต่ละโรงเรียนจำนวน 15 โรงเรียน มาดูรายละเอียดของการเข้าเรียน และพบว่าเวลาสูงสุดคือ 8 ชั่วโมง 50 นาที โดยนับตั้งแต่เวลาที่เด็กมาโรงเรียนจนถึงเลิกเรียน แต่หากดูเวลาเรียนจริงๆ พบว่าใช้เวลาสูงสุดที่ 7 ชั่วโมง 30 นาที และบางโรงเรียนถ้านับตั้งแต่เวลามาจนกลับ มีเวลาน้อยที่สุดก็คือ 6 ชั่วโมง 45 นาที แต่เวลาเรียนจริงๆ คือ 5 ชั่วโมง 35 นาที ดังนั้น ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาขนาดกลางหรือขนาดใหญ่จะมีค่าเฉลี่ยการมาโรงเรียนอยู่ที่ประมาณ 7.8 ชั่วโมง แต่เวลาเรียนจริงอยู่ที่ 6.9 ชั่วโมง ดังนั้น ถ้าเทียบกับต่างประเทศแล้ว ของเราถือว่าไม่ได้สูงที่สุด ซึ่งหลายประเทศก็มีเวลาเรียนใกล้เคียงกับเรา อย่างเช่นประเทศญี่ปุ่นคือ 203 วัน ซึ่งแทบไม่แตกต่างกัน
“ทั้งนี้ สพฐ. โดยว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เห็นความสำคัญของการลดภาระนักเรียน จึงได้สื่อสารไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในเรื่องของการลดการบ้านเพิ่มการเรียนรู้ ในประเด็นที่ 1 คือ การลดการบ้านหรือเพิ่มสิ่งที่จะให้เด็กเรียนรู้ด้วยงานที่คุณครูมอบให้ ถ้าหากภาระงานไหนทำเสร็จในห้องเรียนก็ไม่ต้องให้เด็กไปทำต่อที่บ้าน ให้ทำเสร็จในกิจกรรมที่คุณครูจัดในห้องเรียนได้เลย และประเด็นที่ 2 ให้การบ้านคือทักษะที่เด็กต้องไปทำเพิ่ม ดังนั้นรายวิชาที่จะสามารถให้เป็นการบ้านได้ต้องเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน อย่างเช่น วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ โดยให้ในปริมาณที่เหมาะสมกับระดับชั้นของนักเรียน และสามารถบูรณาการข้ามกลุ่มสาระรายวิชาได้ โดยเป็นชิ้นงานหรือภาระงานตามความเหมาะสมของวิชา เน้นการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา สามารถเรียนรู้ได้ทั้งในและนอกห้องเรียน พร้อมทั้งเน้นให้เด็กเรียนรู้แบบเชิงรุก Active Learning โดยใช้สถานการณ์จริงในการปฏิบัติและเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้น ในการจัดการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุขและลดภาระของนักเรียน ยังช่วยให้คุณครูจัดการสอนที่เหมาะกับบริบทของโรงเรียนและนักเรียน เป็นการลดภาระครูด้วย ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ รมว.ศธ. ที่ต้องการให้นักเรียนและครู มาโรงเรียนอย่างมีความสุข เรียนรู้อย่างสนุกไปด้วยกัน” นายวิษณุ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน วันที่ 25 มกราคม 2567