ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 1/2567 วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2567 โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุมซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับเงินประจำตำแหน่งของตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ ทักษะ และสมรรถนะ สำหรับตำแหน่งในสายงานที่ ก.ค.ศ. กำหนด ให้มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง
ตามที่ ก.ค.ศ. มีมติให้นำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับเงินประจำตำแหน่งสำหรับตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ และระดับทรงคุณวุฒิ ที่มีประสบการณ์ ทักษะและสมรรถนะ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 18 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2551 มาใช้บังคับกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) โดยอนุโลม ตาม ว 4/2552 นั้น
ต่อมา ก.พ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับเงินประจำตำแหน่งสำหรับตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ และระดับทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ ทักษะ และสมรรถนะ สำหรับตำแหน่งในสายงานที่ ก.พ. กำหนด ให้มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 6 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2565 มาใช้กับข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งมีบางประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับบริบทและกลไกการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2)
ดังนั้น ก.ค.ศ. จึงได้พิจารณาแล้วเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับเงินประจำตำแหน่งของตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ ทักษะ และสมรรถนะ สำหรับตำแหน่งในสายงานที่ ก.ค.ศ. กำหนด ให้มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของกฎหมาย และกลไกการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) และเพื่อให้มีความสอดคล้องกับระบบการกำหนดตำแหน่งในปัจจุบัน มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ และหน่วยงานการศึกษาหรือส่วนราชการสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว
มีรายละเอียด ดังนี้
- เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ประเภท วิชาการ ระดับชำนาญการ ตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ และตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ที่ผ่านการประเมินบุคคล และผลงาน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ กำหนดและได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ
- ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่ง เมื่อผ่านการประเมินและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ระดับชำนาญการแล้ว ตามข้อ 1
- ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ ตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ และตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ก่อนวันที่หลักเกณฑ์นี้ประกาศใช้ ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ตั้งแต่วันที่หลักเกณฑ์และวิธีการนี้ประกาศใช้
2. เห็นชอบ (ร่าง) การจัดกลุ่มตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2)
เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) รวมทั้งสอดคล้องกับบริบทของกฎหมายและหลักเกณฑ์และวิธีการที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงลักษณะงาน และหน้าที่ความรับผิดชอบของตำแหน่งที่เกี่ยวข้องและประโยชน์ที่ทางราชการได้รับเป็นสำคัญ และเพื่อเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาของผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งตามมาตรา 53 โดยความเห็นชอบของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง ในการย้าย ย้ายสับเปลี่ยน โอน หรือการบรรจุกลับของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) ในกลุ่มตำแหน่งเดียวกัน โดยไม่ต้องมีการประเมินบุคคลและผลงานและการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในตำแหน่งประเภทวิชาการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ที่ ก.ค.ศ. กำหนด
3. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
ตามที่ ก.ค.ศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ได้มีมติเห็นชอบหลักการและกรอบแนวคิดในการจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้สำนักงาน ก.ค.ศ. เป็นผู้จัดทำระบบการย้ายทางอิเล็กทรอนิกส์ และให้นำความเห็นของที่ประชุมไปประกอบการพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ นั้น สำนักงาน ก.ค.ศ. จึงได้ดำเนินการพัฒนาหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว เพื่อให้การย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ สถานศึกษามีอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ที่เหมาะสม ข้าราชการครูมีขวัญกำลังใจในการจัดการเรียนการสอนอันจะส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนและคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่ง ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรองรับการดำเนินการย้ายผ่านระบบย้ายข้าราชการครู (Teacher Rotation System : TRS) ซึ่งเป็นระบบการย้ายผู้ดำรงตำแหน่งครูให้ดำรงตำแหน่งเดิมในสถานศึกษา สังกัดส่วนราชการเดิม โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการส่งผ่าน จัดการและประมวลผลข้อมูล เพื่อใช้ในการพิจารณาย้าย ผู้ดำรงตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ การย้ายทุกกรณีต้องยื่นคำร้องขอย้ายผ่านระบบ TRS เท่านั้น โดยสถานศึกษาที่รับย้ายต้องมีอัตรากำลังสายงานการสอนในภาพรวมไม่เกินเกณฑ์อัตรากำลังที่ ก.ค.ศ. กำหนด และเป็นตำแหน่งที่ไม่มีเงื่อนไขในการใช้ตำแหน่ง สำหรับกรณีการย้ายผู้ดำรงตำแหน่งครู แบ่งออกเป็น 3 กรณี ได้แก่
กรณีที่ 1 การย้ายกรณีปกติ คือ การย้ายตามคำร้องขอย้าย เพื่อกลับภูมิลำเนา หรือเพื่อดูแล บิดา มารดา ผู้อุปการะเลี้ยงดู หรือเพื่ออยู่รวมกับคู่สมรส หรือการย้ายสับเปลี่ยน หรือการย้ายด้วยเหตุผลอื่น
กรณีที่ 2 การย้ายกรณีพิเศษ คือ การย้ายตามคำร้องขอย้าย เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือถูกคุกคามต่อชีวิต หรือเพื่อดูแลบิดา มารดา ผู้อุปการะเลี้ยงดู คู่สมรส บุตร ซึ่งเจ็บป่วยร้ายแรง หรือทุพพลภาพ หรือเพื่อติดตามคู่สมรส
กรณีที่ 3 การย้ายกรณีเพื่อประโยชน์ของทางราชการ คือ การย้ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา หรือการย้ายเพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการในสถานศึกษา หรือการย้ายเพื่อเกลี่ยอัตรากำลังของสถานศึกษา
ทั้งนี้ การดำเนินการย้ายตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายการศึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ เรื่อง ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น โดยให้ครูโยกย้ายกลับภูมิลำเนาด้วยความโปร่งใส ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง
4. เห็นชอบ การกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกฯ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 16/2557 และ ว 17/2557 สำหรับสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ
เพื่อให้สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษสามารถคัดเลือกผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการดูแลนักเรียนที่มีคุณลักษณะพิเศษ ตรงตามความต้องการจำเป็นพิเศษของสถานศึกษาและเป็นประโยชน์ต่อทางราชการที่จะได้ผู้ที่มีความสามารถ มีศักยภาพ และประสบการณ์ในการสอน อันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ทั้งในด้านวิชาการและทักษะการดำรงชีวิต และคุณภาพการศึกษา จึงกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกฯ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 16/2557 และ ว 17/2557 สำหรับสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ว่า “ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่งพนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ครูสอนศาสนาอิสลามหรือวิทยากรอิสลามศึกษาตามประกาศแนวการดำเนินงานและการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในสถานศึกษาตามที่ส่วนราชการกำหนด พนักงานจ้างเหมาบริการ ครูอัตราจ้างหรือลูกจ้างชั่วคราว จากเงินงบประมาณหรือเงินรายได้ของสถานศึกษา และมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานตามคุณลักษณะงานของผู้สอนตามรูปแบบการให้การศึกษาของสถานศึกษาในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ โดยมีภาระงานการสอนตามที่ส่วนราชการกำหนด ตามคำสั่งหรือสัญญาจ้างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันรับสมัครคัดเลือกวันสุดท้าย”
5. อนุมัติให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ใช้กรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (เดิม) ไปพลาง เพื่อบรรจุและแต่งตั้งผู้ผ่านการคัดเลือกตามโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ปี พ.ศ. 2566 เข้ารับราชการเป็นครูผู้ช่วย จำนวน 5 อัตรา
เพื่อให้การบรรจุและแต่งตั้งผู้ผ่านการคัดเลือกฯ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีและที่ประชุมกระทรวงศึกษาธิการ และไม่เป็นการกระทบสิทธิประโยชน์ ความก้าวหน้า ที่พึงจะได้รับจากการบรรจุและแต่งตั้งฯ ของผู้ผ่านการคัดเลือกตามโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ประจำปีการศึกษา 2566 รวมถึงเพื่อให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้สามารถมีครูเพื่อปฏิบัติหน้าที่ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ภูมิลำเนา ของผู้สำเร็จการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง โดยอัตราดังกล่าว รวมอยู่ในจำนวน 4,598 อัตรา ตามมติ ก.ค.ศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ที่อนุมัติให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ใช้กรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ตำแหน่งครู ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ และตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) ตามที่ ก.ค.ศ. อนุมัติให้สำนักงาน กศน. (เดิม) ไปพลางก่อน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการให้ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะ และประโยชน์ตอบแทนอื่นไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่เดิมจนกว่าจะมีประกาศกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ
6. เห็นชอบ แต่งตั้งประธานอนุกรรมการ ใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 1 เขต แทนตำแหน่งที่ว่าง เนื่องจากมีผู้ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่ง
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ.