ครูเฮ! นายกฯ เผย มติ ครม. ยกเลิกการอยู่เวรประจำโรงเรียนทั่วประเทศ
"นายกฯ เศรษฐา" เผย ข่าวดี ครม.เห็นชอบ ยกเลิกมติ ครม. ปี 2542 ให้ครูต้องอยู่เวรดูแลโรงเรียน และให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้น แล้วให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้มีการพิจารณาต่อไป
วันที่ 23 ม.ค. ที่หอประชุมคอซู้เจียง ศูนย์ราชการ จ.ระนอง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวภายหลังการประชุม ครม.สัญจรว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เหตุการณ์รุนแรงครูอยู่เวรที่ จ.เชียงราย (ครูถูกชายบุกทำร้ายในโรงเรียนขณะอยู่เวรกลางวัน) ครม.เห็นชอบ ยกเว้นมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2542 ซึ่งกว่า 20 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนไป จึงให้ยกเลิก ยกเว้น โดยให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้น หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะได้มีการพิจารณาต่อไป
และได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ดูแลความปลอดภัยพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ หรือ เร่งจัดหางานไม่ให้เกิดความรุนแรงของกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเริ่มมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม
ทั้งนี้เป็นไปตามที่ช่วงเช้าที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จะสนับสนุนให้มีการยกเลิกมติ ครม. ปี 42 เว้นในส่วนที่เกี่ยวกับการอยู่เวรรักษาการณ์ของหน่วยงานราชการ ตามหลักเกณฑ์ที่ออกมาในเดือนกรกฎาคม ปี 42
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยรัฐ วันที่ 23 มกราคม 2567
ครูเฮ!มติครม.ให้เลิกเข้าเวร ศธ.เตรียมประสานหน่วยงานความมั่นคงมาดูแลความปลอดภัยแทนระหว่างได้งบฯจ้างนักการภารโรง
ที่จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจร ว่า จากเหตุการณ์รุนแรงครูอยู่เวรที่ จ.เชียงราย และถูกชายบุกทำร้ายในโรงเรียนขณะอยู่เวร นั้น วันนี้มติ ครม.ได้เห็นชอบยกเว้นมติ ครม.เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2542 และให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้น
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยเรื่องความปลอดภัยของครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ เมื่อมีกรณีครูถูกทำร้ายระหว่างอยู่เวรในสถานศึกษา ก็ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมครม. เป็นเรื่องแรก โดยที่ประชุมครม. เห็นพ้องกันว่า ควรยกเลิกการอยู่เวรของครู ที่เกิดขึ้นจากมติครม.เมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา โดยให้ข้อคิดว่าปัจจุบันมีระบบอื่น ที่ทันสมัยอย่างกล้องวงจรปิดสามารถดูแลความปลอดภัยของโรงเรียนได้ และขอให้หน่วยงานในพื้นที่ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามามีส่วนร่วมดูแลโรงเรียน ในช่วงที่ไม่มีครูอยู่ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายยกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) เตรียมสั่งการให้อปท.ทั่วประเทศเข้าไปช่วยดูแลความปลอดภัยของโรงเรียนด้วย ส่วนกรณี ศธ.เสนอของบจ้างนักการ ภารโรงกว่า 1.4 หมื่นอัตรานั้น ที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยขอให้ศธ.ไปจัดทำรายละเอียด เพื่อเสนอให้ครม.พิจารณาในครั้งต่อไป
ด้านว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า สาเหตุที่สพฐ.ขาดนักการภารโรง เนื่องจากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.)มีมาตรการลดกำลังพลภาครัฐ ถ้าลูกจ้างนักการภารโรงเกษียณอายุราชการแล้วก็ให้ตัดตำแหน่งออกไปไม่ให้หน่วยงานจ้างมาทดแทนจึงทำให้นักการภารโรงไม่ครบทุกโรงเรียน ครูจึงต้องผลัดกันเข้ามาอยู่เวร อย่างไรก็ตามเมื่อมติครม.ยกเลิกครูเข้าเวรแล้ว ขณะที่ สพฐ.ยังไม่ได้งบประมาณจ้างนักการภารโรง สพฐ.ก็ต้องหาแนวทางอื่นโดยต้องการประสานความมั่นคงในพื้นที่ให้มาช่วยดูแลโรงเรียนแทนครู เพราะต้องรักษาทรัพย์สินของทางราชการ ป้องกันการโจรกรรม ป้องกันอัคคีภัยที่จะเกิดขึ้นกับสถานที่ราชการ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการ มีทั้งคอมพิวเตอร์ สื่อการเรียนการสอน โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 23 มกราคม 2567
ครม. มีมติยกเลิกการอยู่เวรของครูในโรงเรียน-สถานศึกษาทั่วประเทศ รวมหน่วยงานในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ด้วย
23 มกราคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด (ระนอง กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต และสตูล) ณ ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง โดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุม
มีมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ การยกเลิกการอยู่เวรรักษาการณ์ของครู ในโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งครูสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
"ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ควรยกเลิกการอยู่เวรรักษาการณ์ของหน่วยงานราชการ ซึ่งเกิดจากข้อห่วงใยของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง รมว.ศธ. และ รมช.ศธ. ต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่ครูสตรีในจังหวัดเชียงราย ซึ่งถูกชายบุกเข้ามาทำร้ายในโรงเรียนขณะอยู่เวรกลางวัน และเหตุการณ์ที่นายธวัชชัย ด้วงธรรม ครูโรงเรียนบ้านน้ำพุหินลาด จังหวัดชัยภูมิ ได้รับบาดเจ็บจากการช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งถูกชายบุกเข้ามาทำร้ายภายในบริเวณโรงเรียน"
โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ได้สนับสนุนให้มีการยกเลิกมติ ครม. (6 กรกฎาคม 2542) เว้นในส่วนที่เกี่ยวกับการอยู่เวรรักษาการณ์ของหน่วยงานราชการ
"ศธ.ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของครู นักเรียน นักศึกษาเป็นอย่างมาก ซึ่งมติ ครม.ดังกล่าว ผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว ปัจจุบันการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนไป โดยให้มีการยกเลิก ยกเว้นให้มีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป เช่น จะประสานให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ช่วยกันสอดส่องดูแลโรงเรียนในชุมชน ตำบล และอำเภอ ในรูปแบบของบวร "บ้าน วัด โรงเรียน" โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่ อาสาสมัครหมู่บ้าน และชุมชน เพื่อสร้างความอุ่นใจ พร้อมเฝ้าระวังเหตุและภัยต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในโรงเรียนโดยคนในพื้นที่เอง
#เรียนดีมีความสุข #ยกเลิกอยู่เวร #ศธ #จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน
เนื้อหาบางส่วน : กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เว็บรัฐบาลไทย
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/77862
ที่มา ศธ.360 องศา