เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวในสื่อออนไลน์แสดงความคิดเห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีคำสั่งไม่ให้นักเรียนติด 0 นักเรียนไม่ต้องเข้าเรียน ไม่ส่งงาน ขอแค่มีตัวตน หากมาวันสอบแต่ไม่ส่งงานเลย ก็ต้องตัดเกรด 1 ให้นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเข้าใจผิดให้แก่สังคม ซึ่งกรณีดังกล่าวมาจากที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้และการสอนซ่อมเสริม ซึ่งเป็นการสื่อสารระหว่าง สพฐ.ส่วนกลาง ถึงผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตพื้นที่ เพื่อกระตุ้นให้สถานศึกษาทำความเข้าใจให้ชัดเจนในการกำกับ ติดตาม ช่วยเหลือ สอนซ่อมเสริม ดำเนินการวัดและประเมินผลกรณีนักเรียนมีผลการเรียนไม่สมบูรณ์ (ติด 0 ร มส.) ให้มีผลการเรียนดีขึ้น ลดปัญหาของผู้เรียนในการติด 0 ร มส. และให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ
“เจตนา ของ สพฐ.ก็คือเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย“เรียนดี มีความสุข” ของ ศธ.ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งผู้เรียน ผู้สอน โดยซักซ้อมแนวทางการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน ด้วยเครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย รายงานความก้าวหน้า จุดเด่น จุดที่ต้องปรับปรุงให้แก่ผู้เรียน วางแผนออกแบบการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการตัดสินผลการเรียนตามบริบทแต่ละพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ข้อสอบเพียงอย่างเดียว อาจพิจารณาจากผลงาน ชิ้นงาน แฟ้มสะสมงาน การสอบปากเปล่า ผ่านซูม ไลน์ เฟสบุ๊ค หรือช่องทางอื่น ได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ”โฆษก ศธ.กล่าวและว่า ทั้งนี้การตัดสินผลการเรียนจะมาจาก 2 ส่วน คือ เวลาเรียน ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และ คะแนนการประเมินระหว่างเรียนและคะแนนปลายปี/ปลายภาค ซึ่งการประเมินผลการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม จะนำไปสู่การสรุปผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดต่อไป ส่วนกรณีที่ผู้เรียนมีผลการเรียนที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด ต้องจัดสอนซ่อมเสริมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถบรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายและตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของผู้เรียนอย่างทันท่วงที ซึ่ง สพฐ.ได้กำหนดบทบาทการปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย ทั้งด้านของสถานศึกษา ครู และผู้เรียน
นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ในอดีต อาจมีการติด 0 ร มส. ค้างเทอม ค้างปี ทำให้เด็กเสียโอกาส เป็นภาระผู้ปกครอง สถานศึกษาจึงควรติดตามอย่างใกล้ชิด ให้เด็กได้แก้ไขจนผ่านเกณฑ์ก่อนจบปีการศึกษา ดังนั้น การกล่าวว่า ศธ. สั่งไม่ให้นักเรียนติด 0 ร มส. จึงไม่เป็นความจริงทั้งหมด โดยตนยืนยันว่า สถานศึกษาทุกแห่งมีมาตรฐาน มีเกณฑ์ ในการประเมินผู้เรียนอยู่แล้ว และสามารถให้เกรดผู้เรียนได้ตามปกติ เพียงแต่ ศธ. ต้องการกระตุ้นให้สถานศึกษาและครู ติดตามเด็กอย่างใกล้ชิด สามารถใช้เครื่องมือ วิธีการสอน สื่อการสอน การเก็บคะแนนที่มีความหลากหลายและทันสมัย เพื่อลดปัญหาของผู้เรียนในการติด 0 ร มส. ซึ่งหากสถานศึกษาทุกแห่งสามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ ไม่มีผู้เรียนที่สอบตก หรือติด ร มส. ก็จะเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้สูงขึ้น สร้างบุคลากรที่มีเข้ามาพัฒนาประเทศได้ต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 10 มกราคม 2567