วันที่ 23 ธันวาคม 2566 ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นวาระสำคัญ เพื่อให้บุคลากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีขวัญและกำลังใจในการทำงาน อันจะส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศต่อไปนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นระบบ สามารถเป็นกลไกช่วยเหลือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึง ข้าราชการบำนาญ ให้มีรายได้คงเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ สพฐ. จึงได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04001/ว7735 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2566 ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) และสถานศึกษาที่เป็นหน่วยเบิกกำชับให้ดำเนินการหักเงินเดือน เงินบำนาญ ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 อย่างเคร่งครัด และให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบก่อนที่จะรับรองให้ผู้ใต้บังคับบัญชากู้ยืมเงินทุกครั้ง
.
“ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ได้มอบหมายสถานีแก้หนี้ระดับเขตพื้นที่ สำรวจสภาพหนี้และจัดกลุ่มครูตามภาระหนี้สิน เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสีแดง กลุ่มสีเหลือง และกลุ่มสีเขียว เพื่อดำเนินการแก้ไขได้อย่างตรงจุด พร้อมทั้ง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา สพฐ. ทำงานร่วมกับสถานีแก้หนี้ครู เพื่อให้การปฏิบัติงานครอบคลุมทุกมิติ จึงขอให้ สพท. สศศ. และโรงเรียนที่เป็นหน่วยเบิก ดำเนินการตามระเบียบฯ ที่เกี่ยวข้อง อย่างเคร่งครัด เพื่อเร่งสร้างคุณภาพชีวิตของพี่น้องครูและบุคลากรที่ดีขึ้นต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 23 ธันวาคม 2566