เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick off การขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ประจำปีงบประมาณ 2567 โดย นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2567 กระทรวงศึกษาธิการประกาศนโยบายและจุดเน้นด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยมุ่งเน้นการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และ ศีลธรรม ให้มีความทันสมัยน่าสนใจ เหมาะสมกับวัยและบริบทของพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกช่วงวัยเข้าใจและภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย มีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และ หลักคิดที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง และสถาบันสำคัญของชาติ เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย โดยมีกิจกรรมที่ขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม ดังนี้
- การศึกษาวิจัยแนวทางการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ของประวัติศาสตร์ และ หน้าที่พลเมือง โดยพัฒนาผู้บริหารทุกเขตพื้นที่ ทุกโรงเรียน ซึ่งมีศึกษานิเทศ 490 คน ครู 2,310 คน และ หาโรงเรียนต้นแบบการเรียนการสอน 245 แห่งทั่วประเทศ
- ผลิตสื่อตำรา สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับคนทุกช่วงวัยกว่า 100 รายการ เพื่อใช้ในการเผยแพร่ความรู้ให้เด็กและเยาวชน ประชาชน จัดกิจกรรมสาธิตการสอนประวัติศาสตร์สำหรับสถานศึกษา และ โรดโชว์วิธีการสอนประวัติศาสตร์ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทยในทุกภูมิภาค บูรณาการการรับรู้ร่วมกันทั้ง 4 กระทรวง ได้แก่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และการวิจัย และ กระทรวงศึกษาธิการ
- ประสานและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อสร้างจิตสำนึกรักแผ่นดินเกิด 245 เขตพื้นที่ และเลือกภูมิปัญญาต้นแบบ 18 คน รวมถึงจัดมหกรรมการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ 4 ภูมิภาค
- จิตอาสาพัฒนาท้องถิ่น กลุ่มยุวชนลูกเสือจิตอาสาร่วมพัฒนาสังคมปิดทองหลังพระ ลูกเสือมัคคุเทศก์ให้บริการประชาชนและเผยแพร่ความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น 245 เขตพื้นที่
- จัดทำข้อเสนอให้การประเมินความรู้ มีการเพิ่มขอบเขตเนื้อหาประวัติศาสตร์และจิตสำนึกความเป็นไทยในการรับสมัครบุคคลเข้ารับราชการหรือทำงาน ตามแนวทางความร่วมมือระหว่าง 4 กระทรวง
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกิจกรรม Kick off การขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ประจำปีงบประมาณ 2567 ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย เป็นการจัดร่วมกับงาน ยอยศยิ่งฟ้า อยุธยามรดกโลก ที่เป็นการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทยให้กับคนไทยทุกคน ถือเป็นจุดเริ่มต้นการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองที่เป็นการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนให้เกิดผลลัพธ์กับนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการประกาศให้ส่วนราชการและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการนำนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการไปเป็นกรอบแนวทางในการจัดการการศึกษาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองซึ่งจะส่งผลถึงความมั่นคงและการพัฒนาประเทศต่อไป
“หลังจากมีการทำบันทึกข้อตกลง(MOU) ร่วมกันระหว่าง 4 กระทรวงที่มีการประกาศจุดยืนชัดเจน โดยเฉพาะการให้คนไทยและข้าราชการไทยได้รู้จักความเป็นไทยรู้จักประวัติศาสตร์ชาติไทย รู้จักรากเหง้าความเป็นไทย เพื่อเป็นข้าราชการที่ดีของแผ่นดินที่จะรับใช้ประเทศชาติประชาชนและบ้านเมืองต่อไป ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับผิดชอบทางด้านการศึกษา การจัดการเรียนการสอนก็ได้เน้นย้ำเรื่องนี้มาโดยตลอด และที่ผ่านมาก็มีคำถามจากสังคมโดยตลอดเช่นกันว่า วิชาเหล่านี้หายไปไหน ซึ่งคิดว่าคุณครูก็คงตอบกันจนเหนื่อย แต่ก็ขอย้ำว่าทุกอย่างยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน จึงเป็นประเด็นที่ทำให้กระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องจัดกิจกรรม Kick off ครั้งนี้ เพื่อเน้นย้ำว่าทุกอย่างยังอยู่ และให้ความสำคัญเพียงแต่อาจจะเปลี่ยนวิธีหรือรูปแบบในการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ทันยุคทันสมัยเข้าถึงทุกวัย”นายสุรศักดิ์กล่าวและว่า หลังจากนี้จะมีการจัดกิจกรรมทุกภูมิภาค เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและการเน้นย้ำนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำชับและมอบหมายให้ทุกองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการอย่างจริงจัง โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทย หน้าที่พลเมืองศีลธรรม โดยมีตนเป็นประธาน และมีผู้บริหารทุกองค์กรหลักเป็นกรรมการ โดยคณะทำงานจะต้องมาคุยเรื่องเวลาเรียน รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ต้องปรับให้เหมาะสม รวมถึงการออกไปทัศนศึกษาซึ่งเป็น Active learning ที่จะให้เด็กได้ออกไปเรียนรู้สถานที่จริงด้วย
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า หลังจากกิจกรรม Kick off ในวันนี้กระทรวงศึกษาธิการจะเร่งพัฒนาบุคลากร ครู และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้ครูมีแนวทางในการสอนที่ทันสมัยขึ้น เพื่อให้เด็กมีการแสดงออกถึงภูมิปัญญาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค โดยเรื่องการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนจะมีการใช้ไอที อินเตอร์เน็ต สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยเข้ามา เพื่อให้เด็กเกิดความสนใจหรืออาจจะเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นที่มีความสนุกสนาน รวมถึงจะมีการจัดประกวดคอนเทนท์ด้านประวัติศาสตร์หรือภาพยนตร์สั้น หนังสั้น เพื่อให้การเรียนการสอนและการเข้าถึงของเยาวชนเป็นไปด้วยความทันสมัยมากขึ้น ที่สำคัญจะมีการจัดกิจกรรมระดับจังหวัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)จะจัดสรรงบประมาณลงไปให้ เนื่องจากแต่ละจังหวัดจะมีประวัติศาสตร์แต่ละท้องถิ่นเป็นของตัวเอง
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 15 ธันวาคม 2566