เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ พิซา ปี 2022 ซึ่งเป็นการประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี โดยทำการประเมินทุกๆ 3 ปี ซึ่งจากผลการประเมินก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ประเทศไทยมีผลคะแนนที่ต่ำลง โดยเราคงปฏิเสธไม่ได้ และต้องยอมรับผลคะแนนดังกล่าวตามความเป็นจริง แต่หากดูภาพรวมแล้ว ก็คงไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวที่มีผลประเมินต่ำลง แต่ภาพรวมเกิดขึ้นกับทุกประเทศเมื่อเทียบกับผลประเมินเมื่อปี 2018 ซึ่งเป็นผลกระทบของทุกประเทศ ที่ต้องเผชิญกับความท้ายทายในการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ จากผลการประเมินของนักเรียนไทยดังกล่าว ทำให้ ศธ. ต้องวางแนวทางแก้ปัญหา โดยจะตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาผลประเมินพิซาของนักเรียนไทย ซึ่งจะมีสภาการศึกษาช่วยขับเคลื่อนวางทิศทางการแก้ไขปัญหา พร้อมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมแก้ปัญหาด้วย
“ต้องยอมรับว่าการศึกษาต้องใช้เวลา และต้องเริ่มต้นจากการศึกษาระดับปฐมวัยไป โดยจากนี้ไป เราจะต้องปรับทิศทางการจัดการเรียนการสอน มุ่งสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น และส่งเสริมเรื่องการอ่าน เพราะการสอบพิซาจะเน้นขอสอบที่คิดวิเคราะห์ ดังนั้นจากนี้ไป จะต้องมุ่งเน้นการคิดอ่านแบบคิดวิเคราะห์ของนักเรียนให้มากขึ้น ทั้งนี้ ผมขอให้เชื่อการทำงานภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลหน่วยงานของ ศธ. จะทำงานแก้ปัญหาให้รวดเร็วและสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ผมคาดว่าการประเมินพิซาในปี 2025 จะดีขึ้นอย่างแน่นอน และหากเมื่อวางแนวทางการแก้ไขปัญหาแล้ว ผลคะแนนพิซาในรอบถัดไปยังไม่ดีขึ้น ผมขอรับผิดชอบในการพิจารณาตัวเอง” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 6 ธันวาคม 2566