หากวงการกีฬามีมหกรรมโอลิมปิกทุก ๆ 4 ปีเป็นอีเวนต์สำคัญ ในแวดวงการศึกษาระดับมัธยม ก็มีเรื่องของ “การสอบ PISA” ที่จัดขึ้นทุก ๆ 3 ปีเช่นกัน ซึ่งจะวัดทักษะด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ของเด็กอายุ 15 ปีทั่วโลก
การสอบ PISA ครั้งล่าสุดจัดสอบไปเมื่อปี 2022 และมีการประกาศผลคะแนนออกมาแล้วเมื่อวานนี้ (5 ธ.ค.) ซึ่งผลที่ออกมาพบว่า “ทักษะของนักเรียนกำลังลดลงอย่างไม่เคยมีมาก่อนในหลายประเทศทั่วโลก” แน่นอนว่า รวมถึงประเทศไทยด้วย
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งเป็นผู้จัดสอบ ระบุว่า ในปีที่แล้ว มีประเทศที่เข้าร่วมการสอบ 81 ประเทศ รวมนักเรียนกว่า 700,000 คน
ทั้งนี้ การสอบ PISA ไม่มีการกำหนดคะแนนเต็ม แต่จะใช้สัดส่วนคะแนนของทุกประเทศในแต่ละปีมาคำนวณค่าเฉลี่ย ประเทศไหนที่คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย ก็เท่ากับว่า มีทักษะสูงกว่ามาตรฐาน
ซึ่งค่าเฉลี่ยของคะแนนสอบในแต่ละปีก็ไม่เท่ากัน เป็นการบ่งชี้ว่า ทักษะโดยภาพรวมของนักเรียนอายุ 15 ปีทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งคะแนน PISA 2022 ที่ออกมาก็พบว่า คะแนนการอ่านโดยเฉลี่ยทั่วโลกปีนี้อยู่ที่ 476 คะแนน ลดลงมา 10 คะแนน ส่วนคะแนนคณิตศาสตร์เฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 472 คะแนน ลดลงถึง 15 คะแนน และวิทยาศาสตร์ ค่าเฉลี่ยลดลงเพียง 2 คะแนนเท่านั้น อยู่ที่ 485 คะแนน
จาก 81 ประเทศ พบว่า มีเพียง 18 ประเทศ/เขตพื้นที่เท่านั้น ที่มีคะแนนทั้ง 3 ด้านสูงเกินมาตรฐาน ขณะที่ประเทศไทยนั้น คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทุกทักษะ รวมถึงคะแนนยังต่ำที่สุกในรอบ 20 ปีด้วย
โดยวิชาคณิตศาสตร์ อันดับที่ 1 คือ สิงคโปร์ ได้คะแนนสูงถึง 575 คะแนน ตามด้วยมาเก๊า (552 คะแนน) ไต้หวัน (547 คะแนน) ฮ่องกง (540 คะแนน) และญี่ปุ่น (536 คะแนน) ส่วนประเทศไทย ได้ 394 คะแนน ลดลงจากการสอบครั้งก่อน 25 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 58
ส่วนวิชาการอ่าน อันดับที่ 1 ยังคงเป็น สิงคโปร์ (543 คะแนน) รองลงมาคือ ไอร์แลนด์ (516 คะแนน) ญี่ปุ่น (516 คะแนน) เกาหลีใต้ (515 คะแนน) และไต้หวัน (515 คะแนน) ในวิชานี้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 64 เท่านั้น ด้วยคะแนน 379 คะแนน ลดลง 14 คะแนน
และวิชาวิทยาศาสตร์ อันดับที่ 1 ยังหนีไม่พ้น สิงคโปร์ (561 คะแนน) ตามมาด้วย ญี่ปุ่น (547 คะแนน) มาเก๊า (543 คะแนน) ไต้หวัน (537 คะแนน) และเกาหลีใต้ (528 คะแนน) ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 58 ได้ 409 คะแนน ลดลง 17 คะแนน
ในทั้ง 3 วิชา พบว่า ประเทศไทยเป็นรอง สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน และมาเลเซียทั้งหมด นอกจากนี้ เมื่อย้อนดูคะแนนของประเทศไทยก่อนหน้านี้ ก็พบว่านี่เป็นคะแนนที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปีของประเทศไทย โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งเดิมทีไทยอยู่ในระดับสูงกว่า 400 คะแนนมาตลอด ก็เป็นครั้งแรกที่ตกลงมาอยู่ในหลัก 300
OECD ระบุว่า การที่คะแนนเฉลี่ยทั่วโลกของวิชาคณิตศาสตร์และการอ่านลดลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบอันน่าตกใจของโควิด-19 ในประเทศส่วนใหญ่
โดยทุกประเทศมีคะแนนทั้ง 3 วิชาหรือบางวิชาลดลง และมีเพียง 4 ประเทศ/เขตพื้นที่เท่านั้นที่คะแนนทั้ง 3 วิชาดีขึ้น ได้แก่ บรูไน กัมพูชา สาธารณรัฐโดมินิกัน และไต้หวัน
ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาของ OECD อันเดรียส ชไลเชอร์ กล่าวว่า “โควิด-19 น่าจะมีบทบาทบางอย่าง แต่ไม่มากขนาดนั้น เรื่องของปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ซ่อนอยู่และมีแนวโน้มที่จะเป็นคุณปัญหาถาวรของระบบการศึกษาของเราต่างหาก ที่ผู้กำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญอย่างจริงจัง”
จากรายงานผลคะแนนยังพบว่า ประเทศที่ให้การสนับสนุนครูเพิ่มเติมในช่วงปิดโรงเรียนช่วงโควิด-19 จะมีคะแนนที่ดีกว่า และโดยทั่วไปแล้ว ผลคะแนนจะดีกว่าในประเทศที่ครูสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือพิเศษได้โดยง่าย
ผลคะแนนในประเทศที่ย่ำแย่สัมพันธ์กับอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือในยามว่างที่สูงขึ้นช่วงโควิด-19 และการขาดแคลนครูของบางโรงเรียน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก PPTV วันที่ 6 ธ.ค. 2566