หลายคนคงสงสัยว่าน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลาแตกต่างกันอย่างไร เนื่องจากน้ำมันทั้งสองชนิดนี้มีชื่อเรียกที่ใกล้เคียงกัน บางคนอาจคิดว่าเป็นน้ำมันชนิดเดียวกัน แต่รู้หรือไม่ว่าน้ำมันทั้งสองชนิดมีแหล่งที่มา สารอาหารและคุณประโยชน์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
น้ำมันปลา (Fish Oil) คือ น้ำมันที่ได้จากกระบวนการสกัดเอาน้ำมันออกมาจากส่วนต่างๆ ของปลา เช่น เนื้อปลา หนังปลา หางปลา หัวปลา โดยปลาทะเลที่นำมาสกัดนั้นเป็นปลาที่อยู่ในทะเลน้ำลึกเขตหนาวเย็น ซึ่งมีกรดไขมันโอเมก้า-3 (Omega-3) ปริมาณมากกว่าปลาน้ำจืด อาทิ ปลาแองโซวี่
ปลาแมคเคอเรล หรือปลาทูน่ามีไขมัน เป็นต้น
สารอาหารสำคัญของน้ำมันปลา น้ำมันปลาอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated Fatty acid) ชนิดโอเมก้า-3 อยู่มาก ประกอบด้วยกรดไขมันสำคัญ 2 ชนิด ก็คือ EPA (Eicosapentaenoic Acid) และ DHA (Docosahexaenoic Acid) ซึ่งร่างกายไม่สามารถผลิตเองได้จึงจำเป็นต้องรับจากอาหารเท่านั้น
EPA มีชื่อเต็มว่า EICOSAPANTAENOIC ACID เป็นกรมไขมันเชิงซ้อนไม่อิ่มตัว จัดอยู่ในกลุ่มกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีมวลโมเลกุลจัดเรียงกัน 20 ตัว กรดไขมัน EPA ยังช่วยลดการเกาะตัวเป็นก้อนของเม็ดเลือดหรือที่เรียกว่า ลิ่มเลือด ทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ลดการตีบตันของหลอดเลือดซึ่งเป็นที่มาของโรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดในสมองแตกเป็นอัมพฤต อัมพาต
DHA มีชื่อเต็มว่า DOCOSAHEXANOIC ACID เป็นหนึ่งในกรดไขมันโอเมก้า 3 โดยความยาวของคาร์บอนโมเลกุลเท่ากับ 22 DHA เป็นกรดไขมันเชิงซ้อนที่สำคัญต่อระบบประสาทโดยตรง โดยพบว่าในสมองของมนุษย์มีปริมาณ DHA สูงถึง 40% และในดวงตามี DHA 60% DHA ช่วยในการรักษาระดับของเหลวในเซลล์ประสาท ทำให้การนำพา Na+K+Ca++ เป็นไปได้ปกติซึ่งกรดไขมันโอเมก้า-3 ทั้ง 2 ชนิดนี้ (DHA และ EPA) พบได้ในปลาทะเลเขตน้ำเย็นชนิดต่างๆ อาทิ ซาดีน แม็คคาเรล แซลมอล และปลาทูน่า เป็นต้น ซึ่งจะพบมากในสัดส่วนระหว่าง 2 ถึง 8 กรัมในเนื้อปลา 200 กรัม โดยปกติ และจากการวิจัยพบว่าปลาทะเลไทยเช่น ปลาทู ปลากะพง ปลาเก๋า ปลาสำลี ปลาอินทรีย์ ปลาโอ มีกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่เหมาะสมเช่นกัน หากไม่มีปลาทะเลก็สามารถเลือกรับประทานปลาน้ำจืด เช่น ปลาช่อน ปลาบู่ เป็นต้น
น้ำมันปลาเหมาะกับใคร? เหมาะกับผู้ที่ต้องการบำรุงหัวใจ สมอง ป้องกันหลอดเลือดหัวใจ และสมองอุดตัน หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูงหรือต้องการลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ ลดอักเสบโรคข้อรูมาตอยด์ โรคซึมเศร้า และโรคสมองเสื่อม เป็นต้น
น้ำมันตับปลา (Cod liver oil) คือ น้ำมันตับปลาจะสกัดมาจากตับของปลาทะเลน้ำลึก โดยเฉพาะปลาคอด หรือที่หลายคนคุ้นหูกันในชื่อของ Cod liver oil
สารอาหารสำคัญของน้ำมันตับปลาจะมีกรดไขมัน EPAและ DHA ในปริมาณที่น้อยกว่าน้ำมันปลา แต่มีวิตามินเอและวิตามินดีสูง
น้ำมันตับปลาเหมาะกับใคร น้ำมันตับปลาเหมาะกับผู้ที่ต้องการดูแลในเรื่องของสายตาและกระดูก เนื่องจากวิตามินเอได้ชื่อว่าเป็นวิตามินสำหรับดวงตา เพราะมีประโยชน์ต่อสมรรถภาพในการมองเห็น ช่วยให้มองเห็นในที่ที่มีแสงสว่างน้อยได้ดีขึ้นในส่วนของวิตามินดีเองนั้นก็มีคุณสมบัติในการบำรุงกระดูก ป้องกันกระดูกพรุนและเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง รวมถึงยังถูกนำมาใช้เสริมในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดวิตามินเอและวิตามินดีอีกด้วย
ข้อควรระวังในการใช้น้ำมันปลา (Fish oil) เนื่องจากน้ำมันปลามีโอเมก้า-3 ปริมาณที่สูง ซึ่งโอเมก้า-3 มีคุณสมบัติในการต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด และทำให้เลือดหยุดไหลช้าลงได้ หากผู้ที่รับประทานเป็นประจำอาจทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดออก เช่น ผู้ที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัด ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ที่ดื่มสุรามากๆ หรือผู้ที่รับประทานยาจำพวกแอสไพริน หรือวอร์ฟาริน ที่มีคุณสมบัติลดการแข็งตัวของเลือด อาจจะต้องทานน้ำมันปลาอย่างระมัดระวัง
ข้อควรระวังในการใช้น้ำมันตับปลา (Cod liver oil) น้ำมันตับปลามีปริมาณของวิตามินเอและวิตามินดีสูงซึ่งวิตามินทั้งสองตัวนี้เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปอาจเกิดการสะสมและก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น คลื่นไส้ เวียนศีรษะ อาหารไม่ย่อย ผิวหนังเป็นผื่น และนอนไม่หลับได้ในบางคน รวมถึงในหญิงตั้งครรภ์ควรระมัดระวังการรับประทานสารอาหารชนิดนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากปริมาณวิตามินเอที่สูง อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์เกิดความผิดปกติได้
สุพิชชา ปรีชาเรืองฤทธิ์
ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
ที่มา www.naewna.com/sport/768643