เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ให้สัมภาษณ์ถึง แนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการวัดผลเทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษา ของผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ เพื่อลดเวลาเรียนในระบบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การลดภาระของนักเรียนและค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้รับนโยบายสู่การปฏิบัติเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันในภาคเรียนแรกปีการศึกษา 2567 ซึ่งมีการกำหนดแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่จัดการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในช่วงเดือนธันวาคม 2566 – มกราคม 2567 จากนั้นจะมีการประชุมทบทวน ยกร่างคำสั่ง ระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ภายในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2567 แล้วประชุมหารือกับฝ่ายกฎหมายของ สพฐ. และ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.ศธ.)ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เพื่อ เสนอ สพฐ. อนุกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(อนุ กพฐ.) และ กพฐ. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ในเดือนมีนาคม 2567 และนำเสนอ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาและลงนามเพื่อประกาศใช้ ในเดือนเมษายน 2567
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นสิ่งที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจ คือ
1. ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์การจบการศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ได้แก่
1.1 เกณฑ์การจบหลักสูตร ที่ผู้เรียนต้องเรียนรายวิชาพื้นฐาน 41 หน่วยกิต และรายวิชาเพิ่มเติม ที่สถานศึกษากำหนด , ผู้เรียนต้องได้หน่วยกิตตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 77 หน่วยกิต โดยเป็นรายวิชาพื้นฐาน 41 หน่วยกิต และรายวิชาเพิ่มเติม ไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต ,ผู้เรียนมีผลการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนในระดับผ่านการเกณฑ์การประเมินตามที่สถานศึกษากำหนด ,ผู้เรียนมีผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในระดับผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่สถานศึกษากำหนด , เรียนเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและมีผลการประเมินผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่สถานศึกษากำหนด
1.2 เกณฑ์โครงสร้างเวลาเรียนตามหลักสูตร กำหนดให้เวลาเรียนระดับ ม.ปลาย รวม 3 ปี ไม่น้อยกว่า 3,600 ชั่วโมง และ
1.3 ข้อกำหนดการเปิดปิดภาคเรียนของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 2 ภาคเรียน รวมปีละ 200 วัน
2.ที่ต้องศึกษา คือ นโยบาย รมว.ศึกษาธิการ เกี่ยวกับการวัดผลเทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษาของผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ เพื่อลดเวลาเรียนในระบบ
กรณีที่ 1 การปรับโครงสร้างเวลาเรียนระดับ ม.ปลาย ที่หลักสูตรแกนกลางฯ กำหนด จากเดิมกำหนดไว้ รวม 3 ปี ไม่น้อยกว่า 3,600 ชั่วโมง แก้ไขเป็น 2 – 3 ปี ไม่น้อยกว่า 3,600 ชั่วโมง
กรณีที่ 2 การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ผ่านระบบสะสมหน่วยกิต (Credit bank) เพื่อให้ได้จำนวนหน่วยกิตครบตามที่หลักสูตรกำหนด
กรณีที่ 3 การสอบเทียบ โดยกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)
3. คือ แนวทางการดำเนินงาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยกรณีที่ 1 และ กรณีที่ 2 สามารถดำเนินการได้โดย ให้มีการปรับโครงสร้างเวลาเรียนตามหลักสูตรแกนกลางฯ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ให้มีการปรับระเบียบว่าด้วยการเปิดปิดภาคเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนกรณีที่ 3 การสอบเทียบ โดย สกร.ให้เป็นไปตามขั้นตอนการดำเนินงานของ สกร.
“อย่างไรก็ตามเวลานี้ได้มีการตั้งข้อสังเกตและประเด็นพิจารณามาบ้างแล้ว เช่น ตัวชี้วัดของระดับชั้น ม.ปลาย มี 2 ลักษณะ คือ เป็นตัวชี้วัดช่วงชั้น และตัวชี้วัดชั้นปีซึ่งมีเฉพาะกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และยังเป็นตัวชี้วัดที่มีความเข้มข้นและเรียงลำดับตามพัฒนาการของเด็กตามช่วงวัย และระดับชั้นปี อาจมีผลต่อการเรียนพื้นฐานต่อเนื่องในชั้นที่สูงขึ้นได้ ส่วนกรณีที่ผู้เรียนจบการศึกษาเร็ว อาจมีผลต่อวุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้เรียน และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม อารมณ์ตามช่วงวัย และหากมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเวลาเรียนตามหลักสูตร จำเป็นต้องแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้า อย่างน้อย 3 ปี เช่น ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) หน่วยงานผลิตครู สำนักพิมพ์เอกชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นต้น นอกจากนี้หากมีการลดเวลาเรียนให้น้อยกว่า 3 ปี ต้องมีการปรับเปลี่ยนการกรอกระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) ด้วย”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ทั้งนี้ คณะทำงานจะต้องศึกษาข้อมูลและฟังความเห็นอย่างรอบด้าน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในภายหลัง
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566