เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้นำนโยบายด้านเรียนดีมีความสุขของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และนายนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ มาขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้รองเลขาธิการ กพฐ. และผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ทำหน้าที่หัวหน้าชุดคณะทำงานขับเคลื่อนในแต่ละด้าน จำนวน 9 ชุด ที่เป็นไปตามนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ และรมช.ศึกษาธิการ โดยตนได้ให้หลักการไปว่า จะต้องไปดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆเป็นรายสัปดาห์ พร้อมกลับมารายงานสรุปผลว่า แต่ละสัปดาห์ขับเคลื่อนการทำงานไปมากน้อยแค่ไหนอย่างไร และสัปดาห์ต่อไปจะทำอะไรเพิ่มเติมอีก เรียกว่าเราจะเดินหน้าทำงานเชิงรุก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทางการศึกษาต่อผู้เรียนและครู
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ที่ประชุมได้กำชับให้เฝ้าระวังสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมของโรงเรียนทั้งกิจกรรมกีฬาสี ค่ายลูกเสือ การแข่งขันวิชาการ หรือแม้กระทั่งวันลอยกระทง เพราะขณะนี้เปิดภาคเรียนที่ 2 มาแล้ว จึงฝากให้โรงเรียนดูแลมาตรการความปลอดภัยของนักเรียนอย่างเข้มข้น นอกจากนี้ ยังหารือถึงพลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทน เนื่องจากเป็นข้อสั่งการจาก รมว.ศึกษาธิการ ให้นำเรื่องดังกล่าวมาใช้ เพราะ สพฐ. มีโรงเรียนอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ค่าสาธารณูปโภคค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าในกลุ่มโรงเรียนขนาดใหญ่บางแห่ง ต้องจ่ายค่าไฟราคาหลักล้านบาท ซึ่งเร็วๆ นี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ในฐานะที่ตนมอบให้เป็นประธานคณะทำงานพลังงานทดแทนในสถานศึกษา จะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่ที่เกี่ยวข้องว่าจะทำอย่างไรที่จะนำเรื่องพลังงานทดแทนมาใช้ โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนขนาดใหญ่และโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าในอนาคต เราจะลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟของโรงเรียนได้อย่างมาก อีกทั้งการดำเนินการเรื่องพลังงานทดแทน จะนำไปสู่การรองรับนโยบายการแจกแท็บเล็ต และแล็ปท็อปในอนาคตด้วย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566