เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2566 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้แนวทางการจัดการศึกษา ไว้ว่าอยากให้ปรับเปลี่ยน ถ้อยคำที่ใช้ในการจัดการศึกษาให้เป็นคำที่มีความรู้สึกในทางบวก เช่น การจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มาเป็นการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาส เพราะคำว่า “ลดความเหลื่อมล้ำ” มันเป็นคำที่มีความหมายทางลบ แต่ “การเพิ่มโอกาส” จะเป็นความหมายทางบวก อีกทั้งคำว่า ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่า เราไปจัดการศึกษาให้กับเด็กยากจน ยากจนพิเศษ ซึ่งบางคนไม่ยอมรับคำนี้ เพราะเขาไม่ใช่เด็กยากจน ขณะที่คำว่า “เด็กด้อยโอกาส”ก็ทำให้เด็กเกิดความไม่เท่าเทียมกับเพื่อน แม้แต่คำว่าพิการก็อยากก็ไม่อยากให้พูดว่า เด็กมีความพิการแต่อยากให้พูดว่าเด็กมีพัฒนาการช้า เด็กมีความต้องการจำเป็นพิเศษ เพราะบางทีผู้ปกครองก็มีความรู้สึกไม่ดี ดังนั้นเราก็จะปรับคำพูดกันใหม่ อยากเปลี่ยนมาใช้คำว่าที่มีความหมายทางบวกสำหรับเด็ก เพื่อให้สังคมคิดบวกจะดีกว่า
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบาย Anywhere Anytime เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ของนายกรัฐมนตรี ที่เข้าใจกันว่าเมื่อกระทรวงศึกษาธิการนำมาดำเนินการแล้วจะให้มีการซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียนนั้น เป็นการสื่อสารที่ไม่ค่อยถูกต้อง เพราะแนวทางของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน คือ การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้สนับสนุนการเรียนการสอน โดยต้องทำคอนเทนต์เข้าไปในแพลตฟอร์มก่อน และ ทำห้องสมุดให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ คือ เมื่อได้แพลตฟอร์มและคอนเทนต์แล้วจะมีแท็บเล็ตให้ยืมในสถานศึกษานำร่องเหมือนกับการยืมหนังสือ เพื่อให้เด็กอ่านหนังสือผ่านแท็บเล็ต เป็นการสนองนโยบาย Anywhere Anytime โดยไม่ต้องลงทุนแจกแท็บเล็ตให้เด็กทั้งหมด ส่วนผู้เรียนของกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)ซึ่งส่วนใหญ่มีศักยภาพอย่างน้อยมีสมาร์ทโฟนเกือบทุกคนก็สามารถใช้ประโยชน์ได้โดยการนำคอนเทนต์จากห้องสมุดมาใช้ได้เลยโดยไม่ต้องซื้อแท็บเล็ตแจก เพียงแต่ต้องทำคอนเทนต์ไว้รองรับ แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก คือ เรื่องลิขสิทธิ์หนังสือ ที่ต้องหาหนังสือที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์มาทำเป็น e-Book ทำ QR Code ไว้ให้บริการ ค่อย ๆ ขยับทีละเรื่องทำเรื่องไปก่อน
ดร.สุเทพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ยังมีแนวทางเรื่องการจัดนิทรรศการของหน่วยงานและสถานศึกษาแต่ละสังกัด ว่า ให้ปรับการจัดนิทรรศการเป็นรูปแบบนิทรรศการอิเล็กทรอนิกส์หรือนิทรรศการออนไลน์ เพราะนิทรรศการออนไลน์เมื่อผ่านกระบวนการนำเสนอหรือจัดแสดงไปแล้ว สามารถเก็บไว้ในไฟล์หรือ Pages ของหน่วยงานได้ ซึ่งจะสามารถเข้าไปดูเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ใช่จัดแล้วก็เก็บทิ้งเหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ได้มอบให้เริ่มดำเนินการในการประชุมผู้บริหารที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลต่อไป หรือแม้แต่การจัดทำข้อมูลพื้นฐานของแต่ละหน่วยงานเพื่อรายงานก็ให้ทำเป็นไฟล์แล้วทำเป็น e-Book แล้วแชร์เข้าไปในสมาร์ทโฟน ไม่ต้องทำเอกสารเป็นรูปเล่ม ซึ่งเป็นการประหยัดเรื่องการทำเอกสารลงได้มาก รวมถึงทำสมาร์ทออฟฟิศ หรือ การใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการองค์กร ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ ให้นโยบายว่าถ้าเป็นไปได้หากต้องมีการประชุมก็ให้ประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็น e-Meeting แต่หากไม่มี e-Meeting ก็ไม่เป็นไรแต่ต้องไม่ทำเอกสารเป็นเล่ม คือ ให้ทำเอกสารเป็นชุดเดียวแล้วแชร์ไฟล์กัน ถือเป็นความพยายามที่จะใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการองค์กรให้มากขึ้น และยังช่วยเรื่องของพลังงานสะอาดลดโลกร้อนด้วยและประหยัดงบประมาณด้วย
“ที่ผมพยายามพูดก็เพื่อต้องการให้ตีโจทย์ให้แตก อย่างเช่น Anywhere Anytime คือ เรียนที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ หาข้อมูลอยู่ในสมาร์ทโฟนอยู่ที่ไหนก็เรียนได้ หรือ เรื่องของ Learn to Earn ที่หลายคนตีความว่าจบแล้วมีงานทำ ก็ไม่ใช่แค่นั้น แต่หมายความว่ามีรายได้ระหว่างเรียน หรือ เรื่อง upskill reskill แทนที่จะทำแค่ที่ตีความ ก็สามารถไปเชื่อมโยงกับ เครดิตแบงค์ธนาคารหน่วยกิตได้ แม้แต่การจัดการศึกษาสำหรับเด็กเร่ร่อน ก็ต้องเข้าใจว่า เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้ต้องการเรียนเพื่อได้วุฒิการศึกษา แต่ต้องการเรื่องของทักษะชีวิต ซึ่งก็ต้องตีโจทย์ตรงนี้ให้แตก” ปลัด ศธ.กล่าวและว่า ทั้งนี้ ทิศทางการจัดการศึกษาในอนาคตตาม นโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ คือ การวัดผลประเมินผลและการเทียบวุฒิการศึกษา ซึ่งเจตนาของรัฐมนตรีคือไม่จำเป็นต้องเรียน 16 ปี จบปริญญาตรีแล้วมีงานทำ ไม่จำเป็นต้องเรียนจบ ปวช. 3 ปีแล้วมีงานทำ แต่หมายความว่าเมื่อเข้าเรียนปี 1 แล้วมีสมรรถนะอาชีพอะไร สามารถไปประกอบอาชีพได้ ซึ่งสามารถเลือกที่จะเรียนในห้องเรียนหรือไปเรียนนอกระบบสะสมหน่วยกิตแล้วมาเทียบโอนได้ ส่วนเด็กอัจฉริยะซึ่งมีศักยภาพในการเรียนเหนือกว่าเด็กปกติ ถ้าหากเรียนด้วยระยะเวลาที่สั้นกว่าเด็กปกติ แล้วสามารถสอบวัดผลประเมินผลได้ตามมาตรฐานหลักสูตรก็ควรสามารถเรียนจบได้ในระยะเวลาที่สั้นกว่าได้เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กำลังพยายามดำเนินการโดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)และ สกร. โดย สพฐ.จะเทียบเด็กอัจฉริยะหรือเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ส่วน สกร.ก็ดูเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาแล้วมีศักยภาพมากกว่าหลักสูตร แต่ต้องมีหลักเกณฑ์ที่รอบคอบไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเข้ามาเทียบโอนได้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566