ตามที่ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่อง กำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รองรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ที่มีผลให้ความผิดทางอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว เป็น “ความผิดพินัย” หรือมาตรการปรับที่สร้างขึ้นใหม่ นั้น เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า เมื่อเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี ได้มีนโยบายและให้ความสำคัญกับการทบทวนกฎหมายด้านการศึกษาเพื่อให้เป็นปัจจุบัน โดยได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานรองรับการบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 (วันที่ 25 ตุลาคม 2566) ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือการปรับเปลี่ยนโทษอาญาบางประการ เป็นความผิดทางพินัย ตามอัตราค่าปรับพินัยที่สร้างขึ้นใหม่ ไม่ให้มีสภาพเป็นโทษอาญา โดยผู้กระทำความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยตามจำนวนเงินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาลกำหนด
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า จากการประชุมหารือกับฝ่ายกฎหมาย พบว่า ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 และ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดเจ้าหน้าของรัฐที่มีอำนาจปรับพินัยไว้ จึงได้มอบสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จัดทำประกาศกำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย พร้อมกำหนดอัตราค่าปรับ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยโดยเร็ว
“ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จึงเร่งให้จัดทำประกาศเพื่อนำสู่การปฏิบัติโดยเร็ว ขณะนี้ได้ลงนามในประกาศเรื่องกำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ ทั้ง 3 ฉบับแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็นกระทรวงแรก ๆ ที่ทำสำเร็จ ตามสไตล์การทำงาน “ทำดี ทำได้ ทำทันที” ที่จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง และทำให้คำว่าคุกมีไว้ขังคนจนหมดไป ทั้งนี้ ขอฝากให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ไปยังผู้บริหารการศึกษาและโรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศ” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ทั้งนี้ การกำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ ประกอบด้วย
1. การศึกษาภาคบังคับ ให้อำนาจปรับแก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ปลัดเทศบาล ปลัดเมืองพัทยา หรือปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อื่น ๆ ผู้อำนวยการเขตในกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารสถานศึกษาทุกสังกัด
2. เครื่องแบบนักเรียน อยู่ในอำนาจศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ผู้อำนวยการ สพท. และผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด ศธ.
3. โรงเรียนเอกชน มีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจปรับตามลำดับ ได้แก่ เลขาธิการ รองเลขาธิการ และผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เลขาธิการและรองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ผู้ว่าราชการจังหวัด ศธจ.และรอง ศธจ. ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในสังกัด ศธจ. ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอ และข้าราชการระดับชำนาญการขึ้นไปหรือเทียบเท่า ที่ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการ กอศ. และสังกัด สช. และสังกัด ศธจ.แล้วแต่กรณี
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566