วันที่ 20 ตุลาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รักษาราชการตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำ OBEC POLL เพื่อสำรวจความคิดเห็นของข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นเรื่อง “ความคิดเห็นที่มีต่อการจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน” โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรใน สพฐ. (ส่วนกลาง) บุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหาร สถานศึกษา ครูและบุคลากรในสถานศึกษา นักเรียน และบุคลากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในสังกัด สพฐ. ผ่านทางช่องทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 14-18 ตุลาคม 2566 และมีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 146,441 คน
จากผลการสำรวจ พบว่า กลุ่มเป้าหมาย เห็นสมควรให้มีการจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน มากถึงร้อยละ 54.66 เมื่อจำแนกตามระดับการจัดงานในกรณีของผู้ที่เห็นด้วย พบว่า กลุ่มเป้าหมาย เห็นควรให้มีการจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและระดับจังหวัด ร้อยละ 54.4 มากที่สุด รองลงมาคือเห็นควรให้มีการจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนเพื่อแสดงผลงานนักเรียน แต่ไม่มีการประกวดแข่งขัน ร้อยละ 53.58 และเห็นควรให้มีการจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ในระดับจังหวัด ร้อยละ 52.67 ตามลำดับ
โดยกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาร่วมการสำรวจความคิดเห็น รวมทั้งสิ้น 146,441 คน พบว่า เป็นเพศหญิง ร้อยละ 70.09 และเพศชาย ร้อยละ 29.91 โดยเป็นครูและบุคลากรในสถานศึกษา มากถึงร้อยละ 69.55 รองลงมาเป็นนักเรียน ร้อยละ 19.76 และผู้บริหารสถานศึกษา ร้อยละ 6.8 ตามลำดับ ส่วนภูมิภาคที่มีส่วนร่วมมากที่สุด ได้แก่ ภาคกลาง ร้อยละ 38.09 รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 30.73 ภาคเหนือ ร้อยละ 16.15 และภาคใต้ ร้อยละ 15.03 ตามลำดับ
สำหรับข้อเสนอแนะจากผลสำรวจและช่องทางสื่อโซเชียลต่างๆ มีหลากหลายความเห็นที่น่าสนใจ อาทิ ในกรณีที่เห็นด้วย ควรจัดงานเพื่อเป็นเวทีการฝึกประสบการณ์ พัฒนาทักษะ แสดงความรู้ความสามารถ และควรให้ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างทั่วถึง เพื่อทำให้เกิดเครือข่ายและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานทั้งของผู้เรียน ผู้สอน และสถานศึกษา หรือเห็นด้วยกับการจัดงานแต่ไม่ควรจัดในหลายระดับ และควรปรับลดรายการกิจกรรมการแข่งขันที่ไม่จำเป็น รวมทั้งต้องมีการปรับเกณฑ์การตัดสิน และกำหนดปฏิทินการดำเนินงานให้ชัดเจน เป็นต้น ส่วนในกรณีที่ไม่เห็นด้วย มีความเห็นต่างๆ อาทิ มองว่าเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นและภาระค่าใช้จ่ายส่วนตัวของครู เป็นการแข่งขันที่ส่งเสริมเฉพาะนักเรียนบางกลุ่ม เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่และโรงเรียนขนาดเล็กในการเข้าร่วมแข่งขัน การขาดมาตรฐานการตัดสินของคณะกรรมการ และเป็นกรรมการที่มีส่วนได้ส่วนเสีย การเข้าร่วมกิจกรรมไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของนักเรียนและคุณครู และมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางไปแข่งขัน เป็นต้น
“สพฐ. ขอขอบคุณข้าราชการในสังกัด รวมถึงสถานศึกษา นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ที่ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นผ่านการสำรวจทาง OBEC POLL รวมทั้งข้อเสนอแนะต่างๆ จากสาธารณชนและในสื่อโซเชียลมีเดีย โดย สพฐ. จะนำผลสำรวจและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายมาพิจารณาและปรับปรุงในการจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนต่อไป ทั้งนี้ หากได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดงานเสร็จสิ้นแล้วจะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบโดยทั่วกัน” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 20 ตุลาคม 2566