ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวปรากฏผ่านสื่อสาธารณะและสื่อออนไลน์ เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อนักเรียนโดยใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้ความรุนแรงกับนักเรียน โดยดึงเก้าอี้นักเรียนที่กำลังนั่งทำงานจนหงายหลังกระแทกกับพื้น และการลงโทษนักเรียนด้วยการใช้มือตบใบหน้านักเรียน เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ โดยพฤติกรรมดังกล่าวนั้น ถือได้ว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติตนไม่เหมาะสมกับจรรยาบรรณของวิชาชีพที่ครูกระทำต่อผู้เรียนที่เป็นศิษย์ในความดูแล ซึ่งระบุไว้ว่าครูจะต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์
เลขาธิการคุรุสภา ให้ข้อมูลว่า เมื่อเกิดเหตุเกี่ยวกับการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพครู ที่อาจเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพครู ทั้งกรณีที่มีผู้ร้องเรียนเป็นหนังสือ หรือกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนใดๆ ก็ตาม คุรุสภาก็จะเร่งดำเนินการพิจารณาโทษทางจรรยาบรรณอย่างเร่งด่วน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการพิจารณาที่เป็นธรรมและโปร่งใส ยุติธรรมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ และผู้เรียน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ต้องรอบคอบในกระบวนการพิจารณา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้ดำเนินการเพื่อเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ดังนี้ 1) เลขาธิการคุรุสภาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวน เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและตรวจสอบข้อมูลของผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกร้องเรียน 2) กรณีพบว่าเรื่องร้องเรียนมีมูล คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ เพื่อดำเนินการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสารจากหน่วยงานต้นสังกัดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางวินัย และพยานเอกสารอื่นๆ รวมทั้ง ให้โอกาสผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกกล่าวหา/กล่าวโทษได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา/กล่าวโทษ และ 3) เมื่อคณะอนุกรรมการสอบสวนดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว จะนำเสนอรายงานการสอบสวนต่อ กมว. เพื่อพิจารณาวินิจฉัยขี้ขาด และกำหนดระดับความผิดทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ ซึ่งจะมีโทษตั้งแต่ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต และสูงสุดคือ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวต่อไปว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2 กรณี ในเรื่องการใช้ความรุนแรงกับนักเรียน ของครูในจังหวัดกำแพงเพชรที่ดึงนักเรียนขณะกำลังนั่งทำงานจนหงายหลังกระแทกกับพื้น และครูโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ลงโทษนักเรียนด้วยวิธีการไม่เหมาะสมด้วยการใช้มือตบใบหน้านักเรียนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า กรณีครูในจังหวัดกำแพงเพชรที่ใช้ความรุนแรง โดยดึงนักเรียนที่นั่งทำงานจนหงายหลังกระแทกกับพื้น ครูรายดังกล่าวมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา หมดอายุวันที่ 19 กรกฎาคม 2570 คุรุสภาจึงได้เสนอแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง และดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงฯ เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณฯ พิจารณาให้ความเห็น ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนฯ ตามกระบวนการพิจารณาทางจรรยาบรรณฯ โดยเร็วต่อไป
ส่วนกรณี ครูโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ลงโทษนักเรียนด้วยวิธีการไม่เหมาะสมด้วยการใช้มือตบใบหน้านักเรียน เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องแล้ว ปรากฎว่า ครูรายดังกล่าวไม่ได้ถือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ หมดอายุไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2553 และไม่ได้มีการต่อใบอนุญาตอีกเลย แต่เป็นครูในสังกัดหน่วยงานที่ไม่นับเป็นระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพในการประชุมครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 มีมติอนุมัติเป็นหลักการให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาพิจารณาเรื่องที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนหากผู้ถูกกล่าวโทษซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ปรากฏข้อเท็จจริง ขณะเกิดเหตุตามที่ถูกกล่าวโทษว่าใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาหมดอายุ หรือยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาและจำหน่ายออกจากสารบบความ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้หารือและตักเตือนไปยังสถานศึกษาต้นสังกัดแล้ว เพื่อให้ผู้ที่เป็นครูและบุคลากรทางการศึกษาเห็นความสำคัญกับผู้เรียน และมีจิตวิญญาณความเป็นครู
นอกจากนี้ เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันคุรุสภามีครูที่ถือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจำนวน 1,152,229 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 9 ต.ค. 2566) แบ่งเป็น ปฏิบัติงานในสถานศึกษา จำนวน 863,090 คน และเป็นผู้ประสงค์ประกอบวิชาชีพครู จำนวน 289,139 คน ในฐานะที่คุรุสภาเป็นองค์กรวิชาชีพที่ดูแล กำกับ การประพฤติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ จึงต้องดำเนินการเกี่ยวกับจรรยาบรรณของวิชาชีพในเชิงรุกเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ เช่น การกำหนดให้หน่วยงานต้นสังกัดของครูที่ถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ไล่ออก หรือปลดออก จะต้องส่งข้อมูลมาให้คุรุสภา เพื่อดำเนินการทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ หรือคุรุสภามีเครือข่ายจรรยาบรรณของวิชาชีพทางการศึกษาของคุรุสภาที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในกระบวนการทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ นำความรู้และประสบการณ์จากการฝึกอบรมกับทางคุรุสภาไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในแต่ละพื้นที่ ทำให้การดำเนินการตรวจสอบและการสอบสวนสืบสวนด้วยความเป็นกลาง และเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สังคมเกิดความมั่นใจในผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษามากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ประชาชนสามารถช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาประพฤติผิดจรรยาบรรณ โดยเฉพาะความผิดทางเพศ การทุจริต ความรุนแรง และการพัวพันยาเสพติด ก็สามารถแจ้งกล่าวโทษมาได้ที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของเด็ก เยาวชน และประชาชน รวมถึงพิทักษ์ศักดิ์ศรีเกียรติยศของวิชาชีพ ให้สมกับความเป็นวิชาชีพชั้นสูงและวิชาชีพควบคุมต่อไป
ที่มา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา วันที่ 12 ตุลาคม 2566