เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการหารือกับหน่วยงานภายในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้เร่งจัดทำแอ๊กชั่นแพลน หรือแผนปฏิบัติงาน เน้น ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งตนได้มาวิเคราะห์ภาระงานของครูอยู่ขณะนี้ ประเด็นสำคัญ คือการคืนเวลาให้ครูไปทำหน้าที่การสอนให้นักเรียนมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการปรับเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นภาระครู เช่น เกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ครูส่วนหนึ่งยังคิดว่า เกณฑ์ประเมินวิทยฐานะทุกวันนี้ยังเป็นภาระ ดังนั้นต้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลไปดูรายละเอียด เพื่อออกแบบเกณฑ์ประเมินที่เหมาะสม ซึ่งวิธีการประเมินการใช้ระบบวิทยฐานะรูปแบบข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement : PA) ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ตามว 9 ที่ใช้ในปัจจุบันถามว่าดีหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าดี แต่ส่วนไหนที่เป็นภาระครู ก็ต้องลดลง เพื่อคืนครูให้นักเรียน
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการโยกย้าย ซึ่งต้องปรับหลักเกณฑ์ให้มีความสะดวก โปร่งใส ไม่ให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ เพราะหากครูต้องเสียเงินเพื่อโยกย้าย ก็ถือเป็นภาระอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดหนี้สิน ดังนั้นก็ต้องไปตรวจสอบว่า ยังมีช่องว่างอยู่ตรงไหน เพื่อหาทางแก้ไข เรื่องครูคืนถิ่นก็ต้องทำ ซึ่งในอนาคตอาจต้องมีการปรับหลักเกณฑ์การสอบครูผู้ช่วย ซึ่งตนได้ให้การบ้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไป ยกร่างหลักเกณฑ์สอบครูผู้ช่วย เสนอให้ท้องถิ่นหรือจังหวัด เป็นผู้จัดสอบคัดเลือก เพื่อคัดเลือกคนในพื้นที่หรือภูมิลำเนามาเป็นครูแก้ปัญหาโยกย้าย ไม่ใช่ว่า อยู่เป็นครูครบ2 ปี ก็ขอย้ายกลับภูมิลำเนาตัวเอง การดำเนินการดังกล่าวถือ เป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ ขณะเดียวกันครูก็จะได้ช่วยพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง และเรื่องย้าย เรื่องวิ่งเต้น เสียเงินเสียทองก็จะหายไปด้วย ทั้งนี้เมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)พิจารณา
“แนวทางนี้ ไม่ใช่แค่ครูเท่านั้น ยังรวมถึงเกณฑ์การคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ด้วย เพราะที่ผ่านมา ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ บางคน ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ไกลจากท้องถิ่น เช่น บางคนมีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ภาคใต้ กลับบ้านเสาร์ อาทิตย์ เสียเวลาอยู่กับการเดินทาง ขาดขวัญกำลังใจ แต่ถ้าปฏิบัติหน้าที่ในท้องถิ่นของตัวเอง ประโยชน์ที่ได้ คือช่วยพัฒนาท้องถิ่นตัวเอง ลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งค่าเช่าบ้าน การเดินทาง ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือให้สอบในพื้นที่ของตัวเอง เรื่องนี้ถือเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ จึงถือเป็นโอกาสที่สพฐ. จะได้เร่งดำเนินงานโดยเร็วที่สุด
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 11 ตุลาคม 2566