วงปีเกิดจากการเจริญเติบโตทางด้านข้างของต้นไม้ เมื่อพืชมีอายุมากขึ้น บริเวณของเนื้อไม้ที่เรียกว่าเนื้อเยื่อแคมเบียม (cambium)ในพืชใบเลี้ยงคู่ เห็นได้ชัดเจนในลำต้นมากกว่าในราก
จำนวนวงมีมากหรือน้อยตามอายุของต้นไม้ในปีหนึ่ง ๆ มีปริมาณน้ำในดินไม่เท่ากัน เช่น ช่วงต้นปี ฝนตกชุก น้ำมาก เซลล์จะมีขนาดใหญ่ ผนังบาง สีค่อนข้างจาง เนื้อไม้ช่วงนี้ เรียกว่า เนื้อไม้ต้นฤดู (spring wood) ต่อมาในช่วงปลายปี ฤดูแล้ง น้ำน้อยส่งผลให้เซลล์แบ่งตัวได้น้อยและมีขนาดเล็ก ผนังหนา มีสารสะสมภายในเซลล์มาก เนื้อไม้ช่วงนี้จะมีสีเข้มกว่า เรียกว่า เนื้อไม้ปลายฤดู (summer wood) เมื่อเกิดเนื้อไม้ทั้งสองฤดูจึงครบปีพอดี
ในปีถัดไปจะเกิดลักษณะเดียวกันอีก ความแตกต่างของเนื้อไม้ทำให้เห็นวงอย่างชัดเจน จึงเรียกว่า วงปี (annual ring) ใช้บอกอายุต้นไม้ ปริมาณน้ำฝน สภาพอากาศในแต่ละรอบปี
นอกจากนี้ ช่วยบ่งบอกถึงสภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในอดีตในพื้นที่ที่ต้นไม้นั้นเจริญเติบโตเพื่อให้ทราบถึงสภาพแวดล้อมในอดีตว่ามีการ เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
เส้นวงปีของต้นไม้ เกิดจากการเจริญของเนื้อเยื่อเจริญเพื่อสร้างท่อลำเลียงน้ำขึ้นมาใหม่ พร้อมปล่อยสารที่เรียกว่าลิกนินไปสะสมอยู่ในเนื้อไม้ ถ้าปีใดฝนตกซุกมีปริมาณน้ำฝนมาก เส้นวงปีจะกว้างเป็นสีน้ำตาลอ่อน ปีไหนแล้งปริมาณน้ำฝนน้อย เส้นวงปีจะแคบและมีสีน้ำตาลเข้มเพราะลิกนินมีความเข้มข้นสูง
จากการศึกษาวงปีไม้ของตันสักที่จังหวัดตาก ของ รศ.ดร.นาฏสุดา ภูมิจำนงค์ นักวิทยาศาสตร์ไทย โดยการใช้สว่านมือเจาะเก็บตัวอย่างเนื้อไม้เพื่อศึกษาวงปี โดยนำมาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการและพบหลักฐานสำคัญของวงปีไม้สักที่มีอายุมากที่สุดถึง 300 ปี แสดงให้เห็นอุณหภูมิอากาศในอดีตเมื่อ 300 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน และในช่วง 100 ปีก่อนพบว่าอุณหภูมิได้สูงขึ้น 0.2 องศาเซลเซียส ในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และปริมาณน้ำฝนในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ได้ลดต่ำ ลงเล็กน้อย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิในฤดูร้อนของประเทศไทยมีความรุนแรงสูงขึ้น นอกจากตันสักที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ศึกษาวงปีเพื่อย้อนรอยหาข้อมูลน้ำฝน อุณหภูมิ แลความสมบูรณ์แล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังศึกษาต้นสนสองใบ และสนสามใบ ซึ่งพบมากในจังหวัดตาก และครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตั้งแต่จังหวัดตากไปจนถึง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากต้นไม้ทั้ง 3 ชนิดนี้มีวงปีซึ่งเห็นได้ค่อนข้างชัดจนกว่าไม้ชนิดอื่นและมีอายุยืนกว่าไม้ทั่วไป
ที่มาภาพจาก คลังความรู้ SciMath
ขอบคุณที่มาจาก
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)