เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ( ศธ.)มีนโยบายเร่งด่วนสำหรับนักเรียน คือเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา(Anywhere Anytime)มีระบบแพลตฟอร์มการเรียนรู้โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยนโยบาย 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต นั้น งบประมาณ ปี 2567 น่าจะทำคอนเทนต์และแพลตฟอร์มให้แล้วเสร็จก่อน จึงค่อยดำเนินการจัดหาแท็บเล็ต ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะจัดทำคอนเทนต์ทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ หรือเลือกทำเฉพาะกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่จำเป็น เพราะในช่วงการเริ่มต้น อาจจะต้องเป็นการทดลองใช้ เพื่อดูความคุ้มค่า ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ได้จริง ลดภาระนักเรียน และภาระครูได้จริงหรือไม่
เลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นสพฐ. เตรียมงบประมาณไว้ กว่า 2,700 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมในส่วนของการจัดทำเนื้อหาการเรียนรู้ ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆซึ่งเมื่อจัดทำคอนเทนต์เรียบร้อยแล้ว จะให้ครู นักเรียน ศึกษานิเทศก์ทดลองใช้ ก่อนประเมินผลการดำนเนินงาน ซึ่งเบื้องต้นจะเริ่มทดลองใช้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะถ้าเริ่มใช้กับเด็กที่เรียนในช่วงชั้นต่ำกว่านั้น อาจจะมีปัญหาในเรื่องความพร้อม อย่างไรก็ตามนโยบายการแจกแท็บเล็ตถือเป็น นโยบายที่ดี เป็นการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งจะต้องรีบดำเนินการโดยเร็ว
“ปีแรกอาจจะเริ่มต้นจาก 1 เขตพื้นที่ฯ 1 โรงเรียนคุณภาพ หรือ 245 โรงเรียนก่อน เพราะคงไม่สามารถหางบประมาณมาดำเนินการได้พร้อมกันทั้ง 3 หมื่นกว่าโรงเรียนทั่วประเทศได้ จากนั้นจึงค่อย ๆ ขยายไปที่ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ตั้งเป้าขยายปีละ 200 โรงเรียน คาดว่าจะดำเนินการได้ครบกว่า 800 อำเภอทั่วประเทศภายใน 4 ปี ตามนโยบาย รมว.ศึกษาธิการ ทั้งนี้ การดำเนินการแจกแท็บเล็ตนักเรียน ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับงบประมาณ ซึ่งต้องใช้จำนวนเงินสูงมาก”ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามการดำเนินการครั้งนี้ นอกจากเป็นการนำเทคโนโลยีมามีส่วนช่วยในการจัดการศึกษาแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะหากเรามีโรงเรียนคุณภาพครบทุกอำเภอ ก็จะช่วยลดภาระผู้ปกครอง ไม่ต้องส่งลูกไปเรียนในตัวเมืองจากนี้จะเร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เร่งจัดทำแอคชั่นแพลน หรือแผนปฏิบัติงาน เน้นใน 2 ประเด็นหลัก คือ ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ดูว่าอะไรบ้างที่เป็นภาระครูอยู่ขณะนี้ เพื่อคืนเวลาของครูไปทำหน้าที่การสอนให้นักเรียนมากขึ้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 9 ตุลาคม 2566