ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศึกษาธิการ)มีนโยบายเร่งด่วนสำหรับนักเรียน คือเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) มีระบบแพลตฟอร์มการเรียนรู้โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยนโยบาย 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต นั้น พล.อ.เพิ่มพูน เปิดเผยความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว ว่า ตอนนี้กำลังให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดูว่างบประมาณปี 2567 มีเหลืออยู่เท่าไหร่ที่จะมาดำเนินการในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามงบประมาณก้อนแรกจะต้องทำเรื่องของแพลตฟอร์มและจะต้องทำให้ได้ก่อน เพราะต้องทำคอนเทนท์ต่าง ๆ หรือสาระที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าโลกปัจจุบัน เด็กที่มีโอกาสก็มีสื่อ อุปกรณ์พวกนี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเด็กที่มีสื่อและอุปกรณ์ก็จะได้ใช้ไปก่อน ส่วนเด็กที่ยังขาดโอกาสก็จะต้องมีกระบวนการอื่นมารองรับ ส่วนจะเช่าซื้อ หรือซื้อแท็บเล็ตแจก ก็ต้องดูว่างบประมาณจะเหลือจากการทำแพลตฟอร์มหรือไม่ เท่าไหร่ รวมถึงโครงข่ายอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วถึงด้วย เพื่อให้สามารถใช้แพลตฟอร์มได้
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า นโยบายแจกแท็บเล็ต เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องหารือกับรมว.ศึกษาธิการให้รอบคอบ เพราะแค่มีนโยบายเรื่องนี้ออกไป ยังไม่รู้เลยว่าเราจะซื้อแจก หรือ เช่าแจก ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เข้ามาแล้ว ดังนั้นจึงต้องทำกันอย่างระมัดระวัง แต่โอกาสที่จะเช่าซื้อมีมากกว่า เนื่องจากมีการติดตามหลังการขาย อีกทั้งสเปคคอมพิวเตอร์ก็เปลี่ยนความเร็วตลอดเวลา การเช่าซื้อก็น่าจะคุ้มค่ากว่า แต่ก่อนมีแท็บเล็ตเราต้องมีแพลตฟอร์ม มีคอนเท้นท์อยู่ในนั้นก่อน และอีกส่วนหนึ่งก็พยายามจะจัดหาอุปกรณ์แจก ซึ่งก็ต้องทำคู่ขนานกันไป แต่ก็ต้องยอมรับว่าระยะแรก ๆ จะดำเนินการไม่ครบตามกลุ่มเป้าหมายเนื่องจากว่าวงเงินมีจำกัด เรื่องงบประมาณเป็นประเด็นสำคัญ โดยขณะนี้ได้ให้สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน(สทร.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไปดูเรื่องของงบประมาณว่ามีอยู่จำนวนเท่าไหร่ในปีงบประมาณ 2567
“ตอนนี้ก็พยายามเคลียร์เรื่องงบประมาณอยู่ ว่าเบื้องต้นจะแจกจ่าย ในระดับชั้นใดจะซื้อแจก หรือเช่าแจก ซึ่งต้องมาดูว่าอันไหนคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งขณะนี้รมว.ศึกษาธิการกำลังให้แต่ละหน่วยงานไปปรับคำของบประมาณ 2567 ขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ งบฯไหนที่ต้องแก้ไขก็ต้องแก้ไข งบฯไหนที่ยังไม่มีก็ต้องเพิ่มงบฯ โดยเฉพาะนโยบายการจัดซื้อแท็บเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการ”รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ด้านนางพวงทอง ศรีวิลัย ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร(รัฐกาลที่9) ทรงมองการณ์ไกลในการใช้เทคโนโลยีมาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเริ่มจากการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพราะโรงเรียนตามชายขอบไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เนื่องจากเป็นโรงเรียนขนาดเล็กขาดแคลนงบประมาณ และขณะนี้โครงข่ายสัญญาณดาวเทียมไทยคมก็ไม่ค่อยเสถียรเพราะทำกันมานานแล้ว แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของรัฐบาลซึ่งมองเห็นปัญหาดังกล่าวจึงจะนำเครือข่ายอินเตอร์ที่มีสัญญาณใช้ได้ในพื้นที่มาดำเนินการ โดยให้ สทร.สำรวจโรงเรียนที่โครงข่ายอินเตอร์เน็ตไปไม่ถึง ซึ่งพบว่า มีอยู่ประมาณ 478 โรงเรียน และมีงบประมาณที่จะดำเนินการในเบื้องต้นอยู่ประมาณ 2,700 ล้านบาท
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 2 ตุลาคม 2566