เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงคนที่จะมาเป็นเลขาธิการ กพฐ.คนใหม่ ว่า ตามที่ตนจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้ ส่วนตัวอยากให้ได้คนที่เข้าใจ มาสานต่อการทำงาน เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เป็นองค์กรใหญ่และมีปัญหาที่สลับซับซ้อนค่อนข้างมาก ถ้าได้คนไม่เข้าใจก็เหมือนต้องมาเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ ผลที่ตามมาคือความล่าช้า ความไม่ต่อเนื่องและความไม่มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าได้เลขาธิการกพฐ.คนใหม่ที่มีต้นทุน มีความเข้าใจ ก็จะสามารถเริ่มทำงานได้ค่อนข้างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ที่ สพฐ.กำลังเผชิญ ซึ่งไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะ สพฐ.ต้องเจอกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ โควิด 19 มา 3 ปี เกิดวิกฤติการศึกษาที่สูงมาก ดังนั้นถ้ายังมาจมอยู่กับการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกทิศถูกทาง จะทำให้เกิดปัญหามากยิ่งขึ้น ซึ่งคนที่เหมาะต้องเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหม้อเสมอไป แต่ต้องสามารถทำงานได้เลย ไม่ใช่มาแล้วต้องมาขอเวลาศึกษาอีก
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการบ้านที่อยากจะฝาก เลขาธิการ กพฐ.คนใหม่นั้น ส่วนตัวไม่มีเรื่องอะไร แต่มีข้อห่วงใย เพราะประเทศไทยยังประสบปัญหาหลายอย่าง ทั้งความยากจน ความเหลื่อมล้ำ เรื่องสุขภาพอนามัย เรื่องสิ่งแวดล้อม และปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นเกม ยาเสพติดหรือภัยคุกคามทางโซเชียล ดังนั้นตนค่อนข้างเห็นด้วยกับนโยบายของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ถ้าหากเราจะเน้นไปข้างหน้า อย่างแรกคือ ต้องทำให้คนมีความสุข ทั้งกายและใจ อย่างที่สองคือ ทำอย่างไร ถึงจะช่วยติดอาวุธทางปัญญาให้กับคน ก็คือเรื่องการอ่าน การเขียน การคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องรณรงค์ จากนั้น ต้องทำให้เขามีทักษะชีวิตที่ดี สามารถเอาชีวิตรอด และช่วยชี้ทางให้เด็กเดิน ซึ่งต้องมีการแนะแนวว่าโตขึ้นเด็กสามารถเป็นอะไรได้บ้าง เพื่อให้มีเป้าหมาย เดินไปสู่ความสำเร็จให้ได้ โดยการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 19 กันยายน 2566