วันที่ 14 กันยายน 2566 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ว่ามีหลักในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาใน 2 ประเด็นใหญ่ ให้กับผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไปได้รับทราบผ่านการประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และถ่ายทอดสด Facebook Live โดยมีจุดเน้นที่สำคัญคือ การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง จุดเน้นดังกล่าว ได้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับกับนโยบาย 5 คานงัดการขับเคลื่อนการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ได้ดำเนินการอยู่โดยเฉพาะเรื่องของการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เน้นการประเมินตามสภาพจริง ลดการทำเอกสาร ลดขั้นตอนการประเมินต้องไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน เน้นที่ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนตามช่วงวัยเป็นสำคัญ และคำนึงถึงสภาพบริบทของสถานศึกษาการปรับระบบการประเมินเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนให้สอดคล้องกับการประเมินวิทยฐานะเพื่อลดความซ้ำซ้อนและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประเมินวิทยฐานะ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการดำเนินการบรรจุ แต่งตั้ง และโยกย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรม ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง เพื่อให้ทุกโรงเรียนได้มีบุคลากรซึ่งเป็นคนในพื้นที่เข้ามาทำการสอนได้ครบชั้นและครูมีความสุขกับการสอน รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการใช้เงินและการเก็บออม ในส่วนของการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครองนั้น ต้องการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา เรียนฟรีมีงานทำ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ นโยบายด้านการศึกษาในภาพรวมที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภานั้น ประกอบด้วย
1. ปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งส่งเสริมให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ
2. เสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด ส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างอนาคตสร้างรายได้กระจายอำนาจการศึกษาให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง มีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย และใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่
3. จัดทำหลักสูตรและให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับความรู้ความสนใจของผู้เรียน
4. ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) และการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
5. การศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศและการปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติเพื่อให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกสมัยใหม่อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม
6. ความมีคุณภาพของครูทั้งประเทศ รวมไปถึงครูแนะแนว เพื่อช่วยให้นักเรียนได้รับคำแนะนำด้านเนื้อหาของวิชาการและการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกเรียนและประกอบอาชีพ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของนักเรียนทุกคน
7. ส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่นักเรียน นักศึกษาทั้งสายวิชาการและสายอาชีพให้มีรายได้จากวิชาที่เรียน โอกาสฝึกงานระหว่างเรียนเพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถตรงต่อความต้องการของการจ้างงาน
8. แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ.
ผู้บริหาร สพฐ. ร่วมรับฟัง รมว.ศธ. มอบนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” พร้อมขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ
วันที่ 14 กันยายน 2566 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มอบนโยบายการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ภายใต้แนวคิดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วม รวมถึงผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แก่ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. และนายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. เข้าร่วมรับฟังนโยบาย ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
ในโอกาสนี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ได้มอบนโยบายการศึกษา ประกอบด้วย การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดขั้นตอนมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่นได้โยกย้ายกลับภูมิลำเนา ด้วยความโปร่งใส ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง รวมถึงแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา และจัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ (1 ครู 1 Tablet) ส่วนในด้านการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ประกอบด้วย นโยบายเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (1 นักเรียน 1 Tablet) รวมถึงโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ มีระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต มีการจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่มเพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ มีการจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศไม่ต้องเสียเวลาในระบบ ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn)
“ทั้งนี้ ให้นำนโยบายด้านการศึกษาของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาและนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม (Action Plan) โดยดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เช่น การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย ห้ามซื้อ-ขายตำแหน่ง ห้ามทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุ ครุภัณฑ์ ชุดนักเรียน อาหารกลางวัน ฯลฯ และต้องจัดซื้อจัดจ้างวัสดุครุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ร่วมมือร่วมใจกันรักษาสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมการอ่านอย่างเป็นกระบวนการ โดยครูต้องเป็นต้นแบบในการรักการอ่าน มีการลงพื้นที่ตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยม ให้เฉพาะผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับการตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยม ให้มีการดำเนินการอย่างเรียบง่ายและประหยัด เช่น ไม่ต้องติดป้ายต้อนรับ ไม่มีของที่ระลึกหรือของฝาก เป็นต้น” รมว.ศธ. กล่าว
ที่มา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน